MOVEMENT NEWS

พานาโซนิค จับมือ สจล. เปิดตัวศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ SSRC
POSTED ON 26/03/2558


 

พานาโซนิค ผนึก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ หรือ SSRC (Smart Surveillance Research Center) เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางด้านงานเฝ้าระวัง ตอบรับนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีของภาครัฐ พร้อมมุ่งพัฒนาเป็นสนามสอบเทียบมาตรฐานอุปกรณ์กล้อง CCTV ในอนาคต

 

นางสาวราณี สิทธิแก้ว ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสดูแลสินค้าซีซีทีวีในประเทศไทย บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสนับสนุนในครั้งนี้ว่า พานาโซนิคได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านงานเฝ้าระวังในยุคดิจิตอลไลฟ์ ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ได้คำนึงถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันดับต้นๆ ทางบริษัทฯจึงมีความยินดีที่จะสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนางานทางด้านนี้แก่หน่วยงานทางการศึกษา เพื่อทำวิจัยโครงงานเรื่องการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยในอนาคต ประกอบกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล. มีความประสงค์ที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับงานเฝ้าระวังขึ้น เพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับงานเฝ้าระวังให้กับทางอาจารย์และนักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจในงานด้านนี้ ซึ่งสอดรับกับวัตถุประสงค์ของทางบริษัทฯดังได้กล่าวมาข้างต้น

 

ในฐานะผู้นำตลาดกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในประเทศไทย เพื่อเป็นการคืนกำไรสู่สังคมไทย ทางบริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ SSRC พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือ และอุปกรณ์ของพานาโซนิค ให้แก่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อใช้ในการศึกษาฟังก์ชั่นต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตยังสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นศูนย์สำหรับสอบเทียบมาตรฐานอุปกรณ์ทางด้านกล้อง เพื่อใช้ในการสร้างมาตรฐานให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้อีกด้วย ปัจจุบันศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ พร้อมเปิดให้บริการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอลหรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าให้แก่ผลผลิตมวลรวมของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งผลักดัน และรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งยังกระจัดกระจายอยู่นั้น มาร่วมกันทำงานเพื่อการพัฒนาและรับมือกับนโยบายดังกล่าว

 

"ที่ผ่านมา สถาบันฯได้นำองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยยกระดับการใช้ชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีของภาครัฐอยู่เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดทางสถาบันฯได้ริเริ่มจัดตั้ง Smart Surveillance Research Center (SSRC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และอุปกรณ์ต่างๆ จากบริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการทำงานวิจัยเกี่ยวกับโครงงานการเฝ้าระวังให้แก่อาจารย์และนักศึกษา อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางที่เป็นภาคการศึกษาในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์และการออกแบบระบบสำหรับงานเฝ้าระวังแก่ผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขายได้นำสินค้าของตนเข้ามาทดสอบ เพื่อตรวจเช็คคุณภาพสินค้าก่อนการจัดจำหน่าย อันจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคต่อไปในอนาคต" รศ.ดร.คมสัน กล่าว

 

ด้าน ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ Smart Surveillance Research Center (SSRC) กล่าวเพิ่มเติมว่า "ศูนย์วิจัย SSRC มีการวางแผนการใช้งานศูนย์วิจัยไว้ 4 ด้านด้วยกัน อันได้แก่

 

1. ด้านงานการศึกษา จะจัดให้มีกิจกรรมการฝึกอบรมเกี่ยวกับการออกแบบและติดตั้งระบบเฝ้าระวังแบบต่างๆ รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้กับนักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์

 

2. ในส่วนของภาคธุรกิจ จะจัดให้มีฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้และทักษะทางเทคนิคให้ผู้ทำงานด้านการการติดตั้ง การใช้งานและการบำรุงรักษาระบบเฝ้าระวังด้วยกล้องวงจรปิดเพื่อสร้างมาตรฐานในระดับวิชาชีพ

 

3. ในส่วนของภาคประชาชน ศูนย์วิจัย SSRC มีห้องทดสอบที่สามารถควบคุมสภาพแสงและวัตถุอ้างอิง สามารถใช้ในการทดสอบและเปรียบเทียบคุณสมบัติกล้องวงจรปิดในสภาพการทำงานที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค

 

4. สำหรับหน่วยงานทุกภาคส่วนสามารถติดต่อใช้ศูนย์วิจัย SSRC เพื่อประโยชน์ในด้านงานวิจัยและพัฒนาด้านการเฝ้าระวังหรือการตรวจจับด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ภาพ เสียง และการสั่นสะเทือน เป็นต้น เพื่อการประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ เช่น งานจราจร งานเกี่ยวกับความมั่นคง งานเกี่ยวกับภัยพิบัติ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้เตรียมแผนพัฒนาและผลักดันศูนย์วิจัย SSRC ให้เป็นสถานที่สอบเทียบมาตรฐานอุปกรณ์งานเฝ้าระวังอิเลคทรอนิกส์ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความร่วมมือระหว่าง บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการทดสอบคุณสมบัติกล้องวงจรปิด เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคต่อไป