MOVEMENT NEWS

มจธ. คว้ารางวัล 2 นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม RACMP 2014
POSTED ON 12/12/2557


 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ส่ง 2 ทีมนักศึกษาสร้างเทคโนโลยีคว้ารางวัลจากการประกวดผลงานด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อกระบวนการผลิต (RACMP 2014) จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยการประกวดนี้จัดขึ้นเพื่อเน้นการเผยแพร่เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม

 

ตัวแทนนักศึกษาจากชมรม TRCC สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ FIBO มจธ. เจ้าของผลงาน “พาหนะขนส่งวัสดุอัตโนมัติแบบยืดหยุ่น” ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในหัวข้อการพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า ผลงานนี้สร้างขึ้นเพื่อช่วยหรือลดปัญหาเรื่องบุคคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมได้ในเรื่องของการขนย้ายภายในโรงงานโดยพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นจากองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์อัจฉริยะ

 

หุ่นยนต์ประเภทนี้มีการใช้งานอยู่บ้างในปัจจุบันแต่ก็มีข้อจำกัดที่ราคาแพง และต้องมีการปรับสถานที่ภายในโรงงานให้เข้ากับการทำงานของหุ่นยนต์ แต่หุ่นยนต์ที่เราพัฒนาขึ้นนั้นมีจุดเด่นตรงที่ไม่ต้องมีการปรับสถานที่ในโรงงาน แต่ก่อนใช้งานจะต้องควบคุมหุ่นยนต์ด้วยมือเพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่ใช้งานสร้างเป็นแผนที่ส่งให้โปรแกรมคำนวณตำแหน่งการทำงานของหุ่นยนต์และเมื่อถึงเวลาทำงานจริงหุ่นยนต์ก็จะทำงานโดยอัตโนมัติตามโปรแกรมที่วางไว้จากการทดสอบพบว่าค่าความคลาดเคลื่อนในการทำงานของหุ่นยนต์อยู่ที่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่ยอมรับได้ในการทำงานเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคนที่มีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนได้มากกว่าขึ้นอยู่กับความชำนาญในหน้าที่นั้นๆ

 

หุ่นยนต์ตัวนี้ถูกออกแบบมาให้ทำงานได้ทั้งระบบบังคับมือและระบบอัตโนมัติ เพิ่มมาด้วยระบบ Safety คือหากหุ่นยนต์เกิดขัดข้องระหว่างใช้งาน หรือหากมีวัตถุวิ่งตัดหน้าหุ่นยนต์ในระยะ 60 เซนติเมตร ระบบจะตัดไฟและหุ่นยนต์จะหยุดทันทีรวมถึงระบบเช็คพลังงานในตัวเอง ซึ่งเมื่อแบตเตอรี่ของตัวหุ่นยนต์ใกล้หมดจะสามารถเคลื่อนที่สู่แท่นชาร์ทแบตเตอรี่เองได้ด้วยระบบส่งพลังงานแบบไร้สาย อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ตัวนี้ยังเป็นเพียงหุ่นยนต์ต้นแบบซึ่งหากต้องนำมาใช้ในอุตสาหกรรมจริงยังคงต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและคงทนมากขึ้นต่อไป

 

สำหรับทีมฟีโป้ เจ้าของผลงานพาหนะขนส่งวัสดุอัตโนมัติแบบยืดหยุ่นนี้ ประกอบด้วย นักศึกษาชั้นปริญญาโท สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ได้แก่ นายธนา วิชิโต, นายอานนท์ พวงรัตน์, นายคเณศ ถุงออด และ นายกิตติ ธำรงอภิชาตกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์

 

ส่วน “ระบบเฝ้าติดตามและป้องกันโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน” เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดครั้งนี้ด้วยในหัวข้อการพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อสังคม ซึ่งเป็นผลงานทีมนักศึกษาจากภาควิชาระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 มี นางสาวสุชาดา สุดเลิศ, นายคิรากร ทิพย์ประจักร, นายณัฐพงศ์ พิพัฒน์สมบัติ และ นายวสันต์ ตันสกุล นักศึกษาปริญญาโท

 

ผลงานนี้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดส่วนลึกอุดตัน หรือโรคลิ่มเลือดอุดตันซึ่งมักจะเกิดจากผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดอวัยวะส่วนล่าง ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดจะเดินไม่ได้และต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทีมงานจึงพัฒนาเครื่องมือขึ้นด้วยระบบการทำงานสองส่วน คือ อุปกรณ์ที่ช่วยในการทำกายภาพบำบัดด้วยการกระดกปลายเท้าจนกว่าคนไข้จะเดินได้ รวมถึงยังได้เพิ่มฟังก์ชั่นการวัดอุณหภูมิ วัดความดัน ด้วยเซ็นเซอร์ จากนั้นข้อมูลส่งต่อไปยังอีกส่วน คือ ส่วนติดต่อแสดงผลกับผู้ใช้งาน เพื่อรายงานผลของการทำกายภาพ ซึ่งในส่วนนี้สามารถสั่งการ ตั้งเวลา และโปรแกรมการทำงานอัตโนมัติของในแต่ละวันให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละคนได้โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการรวบรวมข้อมูลทางการวินิจฉัยรักษาและติดตามผลได้แม้แพทย์จะไม่ได้อยู่ใกล้คนไข้ และยังมีการออกแบบอุปกรณ์ให้ช่วยในเรื่องของแผลกดทับสำหรับคนไข้ที่ต้องนอนอยู่กับที่เป็นเวลานานด้วยระบบการนวด เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดตามหลักทางการแพทย์