MANUFACTURING

กสอ. จับมือ TFP รุกตลาดอาเซียน ตั้งเป้าส่งออก 40%
POSTED ON 07/11/2556


การผลิตอุตสาหกรรม - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ดันประดับยนต์ไทยสู้ศึก AEC พร้อมเผยแผนยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมประดับยนต์ไทยสอดรับนโยบายรถคันแรก พร้อมเปิดกลยุทธ์อุตสาหกรรมประดับยนต์ไทยสู่การแข่งขันในตลาดอาเซียน ด้วยนโยบายบันได 4 ขั้น

 

เป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันสู่ตลาดสากล ซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ กสอ. มุ่งเน้นให้การส่งเสริมและพัฒนา เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา สามารถทุบสถิติยอดผลิตในไทยรวม 2,453,717 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงร้อยละ 68 และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องปี 2556 ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างเช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วน และประดับยนต์ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นควบคู่กันไปด้วย กสอ.จึงเร่งผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายตัว ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ทั้งในด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ การยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญการบุกตลาดในกลุ่มอาเซียน

 

ล่าสุด บริษัทในเครือทีเอฟพี กรุ๊ป ได้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่ประเทศพม่า สามารถมองเห็นโอกาสและแนวโน้มการเติบโตในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งมียอดการสั่งซื้อเข้ามาแล้ว 2 ราย โดยคาดว่าในปี 2558 จะดันยอดขายในตลาดอาเซียนได้สูงถึง 40%

 

เกี่ยวกับ ทีเอฟพี กรุ๊ป

 

จากผู้ผลิตรายเล็กในย่านวรจักรสู่การสร้างอาณาจักรประดับยนต์ระดับคุณภาพสากลที่ส่งขายทั่วอาเซียนและทั่วโลก กลุ่มบริษัททีเอฟพีก่อตั้งขึ้นโดย “นายพรเทพ เกียรติก้องไกล” ในปี 2528 โดยตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์คุณภาพสูง ทำงานทั้งในส่วนของอุปกรณ์และชิ้นส่วน OEM รวมทั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์เพิ่มเติมหลังการขาย

 

ด้วยวิศัยทัศน์ของทีมบริหารกับการพัฒนาคุณภาพการผลิตที่ต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มบริษัททีเอฟพีมีบริษัทในเครือทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่

 

• TFP Industrial Co.,Ltd. เป็นบริษัทหัวเรือใหญ่ ทำหน้าที่ดูแลลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

• TFP Factory Co.,Ltd. บริษัทผลิตอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์คุณภาพสูง ทั้งพลาสติกและไม้แท้ และยังได้รับมาตรฐาน ISO/TS16949 ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์

• The Fine Inter Trade Co.,Ltd. ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ที่เป็นโลหะ

• TFP USA Incorporated, USA ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 โดยประธานกลุ่มบริษัท เพื่อช่วยสนับสนุนการทำตลาดในสหรัฐฯ ที่ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าเป็นอย่างดี และทำให้แบรนด์ของทีเอฟพีเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

• TFP Automotive Australia Pty Ltd. เป็นตัวแทนของบริษัทในตลาดส่วนของประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงบริการหลังการขาย ด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพ และคุ้มราคา

 

ปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

 

ผอ.มาณพ ชิวธนาสุนทร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากปัจจัยบวกที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีการขยายตัวอย่างมาก อันเนื่องจากการฟื้นตัวจากอุทกภัยครั้งใหญ่ปลายปี 2554 ประกอบกับโครงการรถยนต์คันแรกที่เป็นนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ในปี 2555 อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีการเจริญเติบโตขึ้น โดยมีปริมาณการผลิตรถยนต์รวม 2,453,717 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงร้อยละ 68 ซึ่งเป็นการทำลายสถิติทั้งในแง่ของยอดการผลิตที่เกิน 2 ล้านคัน และยอดจำหน่ายภายในประเทศที่เกิน 1 ล้านคัน เป็นครั้งแรก และยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาถึงปี 2556

 

โดยในเดือนมกราคม – เมษายน 2556 มีปริมาณการผลิตรถยนต์รวม 891,960 คัน เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 38 ทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมยานยนต์สูงถึง 10% อันเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีกำลังการผลิตสูงติดอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ส่งผลให้ SMEs กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตลอดจนอุตสาหกรรมประดับยนต์ของไทยได้รับประโยชน์และเติบโตไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์

 

ซึ่งในปี 2555 มียอดการจำหน่ายยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์และประดับยนต์อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบกับปี 2554 ในช่วงก่อนมีนโยบายรถคันแรกมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 35% ในขณะที่ความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ยังมีทิศทางที่ดีและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายในประเทศและนโยบายของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการลงทุนระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความต้องการรถยนต์ของประชาชนในอาเซียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาถึงของ AEC ในปี 2558

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นฐานการผลิตและจัดจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และที่สำคัญเป็นผู้นำในด้านการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ และส่วนประกอบในภูมิภาคอาเซียน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยควรวางแผนบุกตลาดในอาเซียนมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาผู้ประกอบการ และยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งแข่งขันได้ในตลาดสากล จึงมีนโยบายบันได 4 ขั้น เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ได้แก่

 

บันไดขั้นที่ 1 คือ การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม

บันไดขั้นที่ 2 คือ การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่

บันไดขั้นที่ 3 คือ การพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร

บันไดขั้นที่ 4 คือ การทำให้ผู้ประกอบการและบริษัทแข่งขันในเวทีสากลได้

 

โดยเฉพาะขั้นที่ 4 ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากอีกเพียง 2 ปี อาเซียนจะมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ตลาดครอบคลุมประชากรถึง 600 ล้านคน กสอ. จึงต้องเตรียมความพร้อมวิสาหกิจเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ทั้งการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบภาษีและผลกระทบต่างๆ ที่ผู้ประกอบการอาจจะได้รับ รวมถึงการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างตลาดใหม่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

กสอ. ยังได้สร้างเครือข่ายแล้วกว่า 10 เครือข่าย ทั้งในพม่า, ลาว และอินโดนีเซีย เพื่อเป็นลู่ทางให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปทำการค้าและลงทุน หรือหาคู่ค้าใหม่ๆ กับบริษัทในต่างประเทศ รวมถึงการนำผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจให้คำปรึกษาแนะนำ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังมีการพาผู้ประกอบการไปศึกษาดูงานในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียนเพื่อการต่อยอดธุรกิจต่อไป

 

อาเซียนกลุ่มลูกค้าสำคัญในอนาคต

 

ด้าน นายวิรัตน์ เกียรติก้องไกล กรรมการผู้จัดการ ทีเอฟพี กรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ประดับยนต์รายใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของประเทศ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในประเทศพม่า กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ก่อตั้งเมื่อประมาณ 35 ปีที่แล้ว ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายประดับยนต์ แบ่งเป็น 3 ประเภทสินค้า คือ

 

(1) กลุ่มพลาสติก ได้แก่ ลายไม้ในรถ แผงหน้าปัดรถยนต์ กันสาดดักแมลง หัวเกียร์รถยนต์ สามเหลี่ยมฉุกเฉิน

(2) กลุ่มโลหะ ได้แก่ ชายบันไดรถยนต์ กรอบป้ายทะเบียน สปอทไลท์ ไฟฉาย ที่ชาร์จแบตเตอรี่

(3) กลุ่มไม้ ได้แก่ หัวเกียร์ไม้ ชุดลายไม้ โดยแบ่งเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ทีเอฟพี 80%

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับผลิตให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ 20% เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตรถยนต์ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า ฟอร์ด มิตซูบิชิ มาสด้า นิสสัน จีเอ็ม และไทยรุ่ง เป็นต้น โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ผลิตและส่งออกในประเทศอเมริกาและแถบยุโรปประมาณ 70% และจำหน่ายในประเทศอีก 30%

 

“จากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้เรามองเห็นโอกาสของการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้น โดยในปี 2558 ตั้งเป้าส่งออกสู่ประเทศอาเซียน 40% ประเทศไทย 30% และสหรัฐฯ-ยุโรป 30% เนื่องจากสภาวะการหดตัวของอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ-ยุโรป โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์” นายวิรัตน์ กล่าว

 

ทิศทางตลาดในกลุ่มอาเซียน

 

อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มความต้องการสินค้าในตลาดประดับยนต์ค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศยังขาดทักษะความสามารถที่จะพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดีเทียบเท่ากับสินค้าในประเทศไทย

 

อีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองคือ พม่า เพราะยังไม่มีคู่แข่งทางการค้าในสินค้าประเภทประดับยนต์มากนัก จึงเห็นโอกาสในการเติบโตการเจาะตลาดในพม่า โดยหลังเปิดตลาดในพม่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มียอดการสั่งซื้อจากพม่า 2 ราย โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการลูกค้าคนกลาง

 

ทั้งนี้ ความต้องการของสินค้าประดับยนต์ที่เติบโตสอดคล้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันมีผลมาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลส่งผลเชิงบวกต่อยอดขายของบริษัทฯ อย่างมาก โดยล่าสุดยอดขายในประเทศของบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม 20-30%

 

“เหตุผลที่ทำให้สินค้าของบริษัทฯ ครองใจผู้บริโภค คือ การออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคุณภาพการผลิตที่ได้รับรองคุณภาพจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ และทำให้มีสัดส่วนทางการตลาดในอุตสาหกรรมประดับยนต์สูงสุด 1 ใน 5 ของประเทศ มีกำลังการผลิตสินค้าต่อปีสูงกว่า 1 แสนชิ้น” นายวิรัตน์ กล่าว