MANUFACTURING

น้ำตาลครบุรี ทุ่มกว่า 8.5 พันล้านบาท ขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาล
POSTED ON 08/01/2557


อุตสาหกรรมการผลิต - นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เผยถึงทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้วางแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2556-2560) ไว้แล้ว โดยแบ่งเป็นการขยายการลงทุนทั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานเอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทราย มองไว้ทั้งการขยายโรงงานเดิมที่จังหวัดนครราชสีมา ที่มีกำลังผลิต 2.3 หมื่นตันอ้อยต่อวัน เป็น 2.8 หมื่นตันอ้อยต่อวัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท และการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 1.8 หมื่นตันอ้อยต่อวัน ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่เดิม ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 4 พันล้านบาท รวมทั้งจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 30 เมกะวัตต์ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้อีก 1.5 พันล้านบาท

 

ขณะเดียวกันก็ลงทุนโรงงานเอทานอลขนาด 2 แสนลิตรต่อวัน ในจังหวัดนครราชสีมา ใช้เงินลงทุน 1-1.2 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โดยกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปลายปี 2558 เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมาจากมาตรการส่งเสริมเอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินในสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะนี้อยู่ที่ 10, 20 และ 85% ประกอบกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาก็สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E-20 ได้

 

นอกจากนี้ ยังมองไปถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เพราะหากประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีการผลิตเอทานอล หรือแก๊สโซฮอล์ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการส่งออกเอทานอลของไทย เพราะในอนาคตการส่งเสริมพลังงานทดแทนจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากทั่วโลก

 

ทั้งนี้ หากการลงทุนสามารถเดินหน้าได้ตามแผน จะทำให้รายได้ในช่วง 3 ปี (พ.ศ.2557-2559) เติบโตอย่างมาก และกระจายตัวมากขึ้น จากปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจน้ำตาลมากถึง 80-85% และรายได้จากการขายโมลาส 15% ซึ่งในปี 2556 บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจน้ำตาลประมาณ 4.5 พันล้านบาท และรายได้จากธุรกิจไฟฟ้า 100 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง บริษัทฯ จึงต้องการลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลเป็น 70% ภายใน 3 ปีนี้ ขณะเดียวกันจะมีรายได้จากธุรกิจเอทานอล และโรงไฟฟ้าเข้ามาเสริม โดยตั้งเป้ารายได้ในปี 2559 จะมาจากธุรกิจน้ำตาล 6 พันล้านบาท ธุรกิจเอทานอล 1.8 พันล้านบาท และธุรกิจไฟฟ้า 500 ล้านบาท

 

ขณะที่ปริมาณการผลิตของบริษัทฯ ในปี 2556/2557 คาดว่าจะเติบโต 4-5% จากปีก่อนที่มีปริมาณหีบอยู่ที่ 2.54 ล้านตันอ้อย ส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ปริมาณฝนและสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้สามารถผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้อ้อย 1 ตัน จะได้น้ำตาล 99 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันจะสามารถผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 103-104 กิโลกรัม จึงมั่นใจว่าในปี 2557 บริษัทฯ จะมีปริมาณหีบที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

นายอิสสระ ยังกล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานในปี 2557 สิ่งที่ยังกังวลจะเป็นเรื่องของราคาขายน้ำตาลทรายในตลาดโลก เพราะหากราคายังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ากำลังการผลิตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ได้รับผลกระทบจากราคาขายที่ตกต่ำอยู่ดี อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เชื่อว่าในปี 2557 จะเป็นช่วงที่ราคาน้ำตาลดีดตัวสูงขึ้น เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2555-2556) ราคาน้ำตาลน่าจะถึงขีดต่ำสุดแล้ว

 

ในปี 2557 คาดว่าปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในตลาดโลกจะค่อนข้างน้อยมาก เมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดมาก ทำให้ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างมากเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เป็นราคาที่ทั่วโลกไม่สามารถอยู่ได้ ทำให้มีหลายโรงงานต้องปิดกิจการไป โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลในบราซิล ดังนั้น ในปี 2557 เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น คาดการณ์ราคาเฉลี่ยไม่น่าต่ำกว่า 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยมาจากการบริโภคที่เติบโต 2% ต่อปี

 

ขณะที่เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองนั้น แม้ว่าจะกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีนี้และปีหน้า แต่ในแง่ของภาคการบริโภคน้ำตาลยังไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังกำหนดให้โรงงานน้ำตาลขายในประเทศ 25% ส่วนที่เหลือส่งออก 75% ดังนั้น คงไม่ได้รับผลกระทบมากนักหากเศรษฐกิจไทยซบเซา