MANUFACTURING

ตั้งเป้าไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพโลก
POSTED ON 22/07/2559


อุตสาหกรรมการผลิต 22 ก.ค.2559 - นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมชีวภาพเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลเร่งดึงดูดการลงทุนจากประเทศเป้าหมาย เช่น เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ให้เข้ามาลงทุน ซึ่งไทยถือว่ามีความพร้อมด้านวัตถุดิบ อย่างมันสำปะหลังและยางพาราเราก็เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ข้าวและน้ำตาลเราส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่วนปาล์มน้ำมันก็เป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก

 

“สำหรับผลผลิตทางการเกษตรของไทยนั้นไม่ใช่แค่นำไปแปรรูปเป็นอาหารอย่างเดียว แต่สามารถใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงต่อยอดไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง” นางอรรชกา กล่าว

 

ทั้งนี้ ในปี 2563 คาดว่ามูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 560,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 23 โดยทางสหภาพยุโรปได้กำหนดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ภายในปีดังกล่าว ขณะที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีมาตรการบังคับให้ภาครัฐซื้อผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ส่วนอิตาลีมีการเก็บเงินจากผู้ใช้ถุงพลาสติกทั่วไป 0.1-0.2 ยูโรต่อใบ เพื่อให้ประชาชนใส่ใจต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร และลดปริมาณของเสียเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

สำหรับประเทศไทยขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) ภายใต้ งบประมาณ 9 ล้านบาท โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นเจ้าภาพ นำร่อง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแปรรูปเกษตร (Agro- based Industry) และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี (Engineering- based) เพื่อที่จะผลักดันให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งงบประมาณอยู่ในวาระการปฏิรูปประเทศไทยสู่การเป็น Thailand 4.0 วงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีหลายกระทรวงร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อน เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพฯ การพัฒนาบุคลากรทั้งผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหาร การเชื่อมโยงความต้องการของผู้ประกอบการไปสู่นักวิจัย การพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) การสร้างห้องปฏิบัติการเพิ่ม รวมทั้งการสนับสนุนเอาเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบผลิตอัจฉริยะมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างจุดแข็งให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตให้เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ และสร้างขนาดการผลิตที่คุ้มค่า (Economy of Scale) โดยดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น (1) ด้านการเชื่อมโยงวัตถุดิบสู่ภาคอุตสาหกรรม (2) ด้านการส่งเสริมการลงทุน มีการปรับปรุงมาตรการภาษีและสิทธิประโยชน์จูงใจ (3) ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เช่น แลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จัดสรรเงินทุนให้หน่วยงานวิจัย (4) ด้านการตลาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพและพลังงานชีวภาพมีราคาสูง ในช่วงแรกภาครัฐจึงต้องช่วยสนับสนุนผ่านกองทุนฯ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรืองบประมาณอุดหนุน และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนผู้บริโภค

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics