MANUFACTURING

PURAC เล็งตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติก PLA ในไทย
POSTED ON 30/06/2559


อุตสาหกรรมการผลิต 30 มิ.ย.2559 - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวในวันนี้ว่า ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมบริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับการยืนยันจากบริษัท พูแรคฯ ประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วว่ามีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพีแอลเอ (PLA) ขนาด 75,000 ตันต่อปี โดยจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อเป็นการสนองตอบต่อนโยบายเร่งส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลตามรูปแบบคลัสเตอร์

 

โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นการต่อยอดจากโรงงานผลิตกรดแลกติกที่ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในนิคมฯเอเชียอยู่แล้ว เพื่อนำวัตถุดิบดังกล่าวมาต่อยอดผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเปิดดำเนินการให้ได้ภายในปี 2561 ซึ่งหากบริษัท พูแรคฯ เข้ามาขยายลงทุนดังกล่าวได้ ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมชีวภาพของไทยเกิดการตื่นตัวและเป็นการเริ่มต้นไบโอพลาสติกในประเทศอย่างจริงจัง เพราะสามารถนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียงบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ร่วมทุนกับ บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดพีบีเอส เป็นโครงการนำร่องเท่านั้น

 

ทั้งนี้ จากการสอบถามความคืบหน้า ทางบริษัท พูแรคฯ ยืนยันแล้วกว่า 99% ว่าจะเข้ามาลงทุน และอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะเสนอแผนการลงทุนให้คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ส่วนข้อกังวลที่มีผลต่อการจัดสินใจลงทุนเป็นเรื่องการตลาด เนื่องจากบริษัทฯเกรงว่าผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพออกมาแล้วไม่มีตลาดรองรับ ทำให้ต้องไปส่งออกแทนทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักที่บริษัทฯต้องการ

 

“อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสร้างตลาดไบโอพลาสติกในประเทศไทยนั้น ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเม็ดพลาสติกที่ทำมาจากปิโตรเคมีมีราคาค่อนข้างถูก โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชีวภาพแข่งขันลำบาก เพราะมีต้นทุนการลงทุนที่สูงกว่า เมื่อนำมาจำหน่าย ราคาก็จะสูงกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไปค่อนข้างมาก” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

 

โดยในการหารือของคณะอนุกรรมการฯ ก็พยายามที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ซึ่งได้มีการหยิบยกการให้สิทธิประโยชน์ที่จะส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของภาคเอกชน เพื่อเป็นการสร้างตลาดให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยจะมีมาตรการให้ผู้ใช้สินค้าไบโอพลาสติกสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพนำไปหักลดค่าใช้จ่ายได้ 200-300% ในการนำคำนวณภาษีนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้แจ้งให้ทางพูแรคให้รับทราบไปแล้วว่าจะมีการผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมา และทางพูแรคก็ตอบรับหากสามารถสร้างตลาดภายในประเทศได้เพียง 30% ของความต้องการที่มีอยู่ ก็จะทำให้การตัดสินใจที่จะมาลงทุนได้ง่ายขึ้นอีก

 

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าพลาสติกชนิดไหนควรที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เพื่อนำเสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) นำไปหารือกับกระทรวงการคลัง ให้มีผลนำมาปฏิบัติต่อไป

 

สำหรับกรณีของบริษัท เนเจอร์เวิร์กฯ จากสหรัฐอเมริกา และเป็นคู่แข่งของพูแรค มีความสนใจที่จะร่วมทุนกับบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกพีแอลเอด้วยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการตัดสินใจ ซึ่งประเมินแล้วทางพูแรคมีความชัดเจนมากกว่าที่จะเข้ามาลงทุน

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics