MANUFACTURING

"ไดกิ" เร่งเพิ่มกำลังผลิตเป็น 200 ตัน/วัน ภายในปีหน้า ยันลงทุนต่อในไทย
POSTED ON 06/05/2558


อุตสาหกรรมการผลิต - "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการหารือกับ "นายทาคาอะกิ ยามาโมโตะ" ประธานกรรมการ บริษัท ไดกิ อลูมิเนียม อินดัสทรี (ประเทศไทย) ผู้ผลิตอลูมิเนียม 1 ใน 5 รายใหญ่ที่สุดของโลกที่ยืนยันว่าจะยังคงรักษาฐานการผลิต รวมทั้งขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยต่อไป

 

สำหรับอะลูมิเนียมอัลลอยและอะลูมิเนียมแท่งถือเป็นวัสดุตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่ง "ไดกิ" ได้เข้ามาตั้งโรงงานแห่งแรกที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ประกอบกิจการรีไซเคิลเศษอะลูมิเนียม โดยนำเข้าสู่กระบวนการผลิตอลูมิเนียมอัลลอย (Aluminium Alloy) และรีไซเคิลถุงตะกรันอลูมิเนียม (Aluminium Dross) จากโรงหลอมอื่นๆ มีผลผลิตปีละ 90,000 ตัน ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ประกอบกิจการหลอมอะลูมิเนียมแท่งเช่นเดียวกับโรงงานแห่งแรก

 

ทั้งนี้ โรงงานทั้ง 2 แห่งมีการหลอมอะลูมิเนียมในรูปอลูมิเนียมเหลว และส่งไปยังลูกค้าโดยตรง ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ มีกำลังการผลิตรวมกัน 1,500 ตันต่อเดือน และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 48 ตันต่อวัน เป็น 200 ตันต่อวัน ในปี 2559 เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในอนาคต

 

ขณะที่ล่าสุดโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครของบริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้ดำเนินโครงการทดลองนำตะกรันส่วนที่เหลือจากการหลอมอลูมิเนียม (Dross) โดยถือเป็นของเสียอันตรายที่เกิดจากการรีไซเคิลรอบแรกมาทดลองใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ซึ่งการเติมตะกรันอลูมิเนียมส่วนที่มีการควบคุมคุณภาพแล้ว สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของโรงถลุงเหล็กลงได้ร้อยละ 8 และสามารถเพิ่มผลผลิต (Yields) เหล็กได้ประมาณร้อยละ 1.5 ซึ่งนอกจากเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงในการถลุงเหล็กแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากของเสีย ช่วยลดมลพิษ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องแผนกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมอีกด้วย