MANUFACTURING

ก.อุตฯ ลักไก่ เปิดเสรีตั้งโรงงานน้ำตาล ชง ครม.อ้างแผนพัฒนาอ้อยบังหน้า
POSTED ON 03/12/2556


อุตสาหกรรมการผลิต - แหล่งข่าวจากวงการอ้อยและน้ำตาลเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยที่มีทั้งหมด 50 แห่ง เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลเกือบ 20 แห่ง มีความต้องการขยายกำลังการผลิตใน 3 กรณี คือ (1) ขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งยังแหล่งใหม่ (2) ขอขยายกำลังการผลิตในที่ตั้งเดิม และ (3) ขอย้ายกำลังการผลิตบางส่วนจากที่ตั้งโรงงานเดิมไปตั้งยังจังหวัดใหม่ และขอขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือเท่ากับการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นั่นเอง โดยกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ต้องการตั้งหรือขยายโรงงานใหม่ได้ร่วมกัน "ล็อบบี้" กระทรวงอุตสาหกรรมให้แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดว่า โรงงานน้ำตาลที่จะตั้งใหม่จะต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิม 80 กิโลเมตร ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556

 

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องระยะเวลา 8 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2556-2563 เพื่อเปิดเสรีให้โรงงานน้ำตาลสามารถขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 569,500 ตันอ้อย/วัน ด้วยการเพิ่มผลผลิตอ้อยเป็น 180 ล้านตันภายในระยะเวลา 8 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องระยะห่างและพยายามผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.มาแล้วหลายครั้ง แต่ปรากฏว่ามีกำลังภายในจากฝ่ายโรงงานน้ำตาลที่ไม่เห็นด้วยดึงออกมาก่อนจะบรรจุเป็นวาระ

 

ตอนนี้โรงงานน้ำตาลแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ต่างก็มีนักการเมืองและอดีตข้าราชการผู้ใหญ่หนุนหลัง ที่ผ่านมา 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้พยายามประชุมหาทางออกเรื่องระยะห่างของโรงงานเก่าและโรงงานใหม่ โดยเฉพาะกรณีโรงงานน้ำตาลขอนแก่นและโรงงานน้ำตาลมิตรผล เพราะทั้ง 2 แห่งลงทุนก่อสร้างไปแล้วโรงละประมาณ 4,000 ล้านบาท ด้วยการเสนอเรื่องการกำหนดระยะห่างจากเดิม 80 กม.ให้เหลือ 50 กม.

 

แต่โรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิมหลายแห่งไม่ยอม โดยขอให้คงไว้เพราะเกรงจะเกิดการแย่งอ้อยกัน ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายกำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มก็ได้ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำตาลแต่ละโรงงานยังเหลืออยู่มาก ดังนั้นที่ประชุม 3 สมาคมโรงงานไม่สามารถหาข้อยุติได้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ครม.มีมติเรื่องการจัดโซนนิ่งการปลูกพืชเกษตร โดยจะนำนาข้าวมาปลูกอ้อยเพิ่ม ทำให้ฝ่ายการเมืองและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เห็นช่องทางในการอนุญาตให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลได้มากขึ้น จากเหตุผลที่ว่าเมื่อมีผลผลิตอ้อยจากการปลูกอ้อยตามโซนนิ่งมากขึ้น กำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นตามกันไป

 

สุดท้ายจึงมีการร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องระยะเวลา 8 ปี ขึ้นอย่างเร่งรีบ มีการทำออกมาในระยะเวลาไม่นานนัก แถมยังเก็บร่างแผนพัฒนาดังกล่าวเป็นความลับสุดยอด รับทราบเรื่องนี้กันไม่กี่คน ทั้งที่เรื่องนี้ควรมีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยทั้งหมด

 

สาระสำคัญของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระบุว่า ในอนาคตความต้องการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศและตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีโอกาสส่งออก ขณะเดียวกันความต้องการเอทานอลโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการในการนำชานอ้อยไปผลิตไฟฟ้า แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำตาลมีต่ำกว่าปริมาณอ้อยที่เข้าหีบ ได้สร้างความเสียหายต่อชาวไร่อ้อย เพราะต้องรอคิวในการส่งอ้อยเข้าโรงงานนาน โดยโรงงานที่หีบอ้อยนานที่สุดใช้เวลา 181 วัน

 

จากที่กำหนดไม่เกิน 120 วัน ทำให้คุณภาพอ้อยเสื่อมสภาพ ค่าความหวานลดลง สร้างความเสียหายให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า5,700 ล้านบาท หากอนาคตมีการปลูกอ้อยเพิ่ม ถ้ามีกำลังการผลิตเท่าเดิมจะสร้างความเสียหายให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นผู้ร่างแผนจึงได้เสนอแนวทางจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ระยะ 8 ปี (ปี 2556-2563) เพื่อสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออก การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้อ้อยและน้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ส่งเสริมการนำอ้อย น้ำตาลทราย และผลพลอยได้ไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่า เช่น การผลิตไฟฟ้า การผลิตเอทานอลเป็นพลังงานทดแทน และผลิตภัณฑ์ชีวเคมี เป็นต้น

 

ด้วยการกำหนดเป้าหมายให้จัดตั้งสถาบันการวิจัยและพัฒนาด้านอ้อยและน้ำตาลทราย การเพิ่มผลผลิตอ้อยเป็น 180 ล้านตัน ภายในปี 2562-2563 ค่าความหวานอ้อยที่ 13 ซี.ซี.เอส. พื้นที่ปลูก 13.8 ล้านไร่ ประสิทธิภาพการผลิตอ้อยที่ 13 ตัน/ไร่ ผลผลิตน้ำตาลทรายที่ 1.69 ตัน/ไร่ อยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่งที่สำคัญ

 

ที่สำคัญการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลให้เพียงพอกับปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ความต้องการเอทานอล และพลังงานไฟฟ้า ได้แก่

 

(1) เพิ่มกำลังการผลิต 166,500 ตันอ้อย/วัน สำหรับรองรับการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน

 

(2) เพิ่มกำลังการผลิต 333,000 ตันอ้อย/วัน สำหรับการส่งออกน้ำตาลทรายไปต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น 4 ล้านตัน

 

(3)เพิ่มกำลังการผลิต 70,000 ตันอ้อย/วัน สำหรับการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลและน้ำอ้อย เพื่อรองรับการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศประมาณ 4.5 ล้านลิตร/วัน เป้าหมายกระทรวงพลังงานที่ 9 ล้านลิตร/วัน

 

(4)การเพิ่มกำลังการผลิตข้างต้น ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายสามารถผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 2,500 เมกะวัตต์

 

(5)โดยภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลทรายทั้งสิ้นอย่างน้อย 569,500 ตันอ้อย/วัน ตามแผนในระยะ 8 ปี (ปี 2556-2563)

 

ทั้งนี้ เพื่อให้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายบรรลุเป้าหมาย มีการเสนอโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อพัฒนาพันธุ์อ้อยหาพันธุ์ใหม่เข้ามาอย่างน้อยปีละ 2 พันธุ์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ การปรับปรุงบำรุงดินพัฒนาและบริหารจัดการน้ำส่งเสริมให้มีการขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอกับปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้โรงงานน้ำตาลสามารถนำอ้อยเข้าหีบได้อย่างมีประสิทธิภาพ