MANUFACTURING

กลุ่มมิตรผล จับมือภาคีลงนามความร่วมมือ ประกาศต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย
POSTED ON 05/11/2556


อุตสาหกรรมการผลิต - กลุ่มมิตรผล ผสานความร่วมมือสมาคมชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อยและผู้รับเหมารายใหญ่เป็นภาคี ร่วมลงนามบรรลุข้อตกลงในการผลักดันให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลปราศจากการใช้แรงงานเด็ก และการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกประเภท หลุดกรอบประเทศกลุ่มที่ 2 ภายใต้การจับตาของสหรัฐฯ พร้อมเดินหน้าปรับมาตรฐานข้อกำหนดว่าด้วยมาตรฐานแรงงาน 8 ขั้นเทียบชั้นระดับสากล มุ่งสร้างโอกาสขยายพื้นที่ส่งออกในเวทีการค้าโลก 

 

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ปมปัญหาการใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมอ้อยมาจากมุมมองที่แตกต่างในด้านการใช้ “แรงงานเด็ก” ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตของเกษตกรชาวไร่ที่มีความสัมพันธ์แบบครอบครัวใหญ่ สมาชิกในครอบครัวร่วมแรงช่วยกันทำงาน เพื่อลดภาระการจ้างแรงงาน ภาพการมีเด็กเข้าไปอยู่ในเขตไร่อ้อยจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองเช่นเดียวกับกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายของการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย

 

การเร่งแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อยอย่างจริงจัง จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น และอาจส่งผลต่อการพิจารณาผ่อนปรนสถานะของประเทศไทยให้คงอยู่ในระดับกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ในเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor) โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาต่อไป แต่หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมองข้ามหรือละเลยต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว เมื่อสิ้นสุดกรอบระยะเวลาตามเงื่อนไขข้อกำหนดประเทศไทยในปี 2556 นี้ เราอาจถูกลดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 3 หรือเป็นประเทศที่ถูกมาตรการกีดกันด้านการค้าและความช่วยเหลืออื่นๆ จากสหรัฐอเมริกา

 

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า กลุ่มมิตรผล ในฐานะภาคเอกชนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่อไม่สนับสนุนการใช้แรงงานเด็กในภาคเกษตรกรรมอ้อย ไม่เพียงแต่การบังคับใช้มาตรฐานด้านแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) หรือสูงกว่ากฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการ  (OHSAS 18001) ข้อกำหนดตามมาตรฐานของคู่ค้า แต่ยังได้ปรับมาตรฐานด้านแรงงานให้สูงขึ้น สอดรับกับระบบการรับรองมาตรฐานแรงงานที่มีการยอมรับกันในระดับสากล ครอบคลุมการใช้แรงงานในทุกโรงงานของกลุ่มมิตรผล ชาวไร่คู่สัญญา และผู้รับเหมาในด้านต่างๆ

 

การกำหนดมาตรฐานแรงงานที่เข้มงวดขึ้นเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้ริเริ่มดำเนินการภายใต้มาตรฐานดังกล่าวใน 8 ลำดับขั้น ประกอบด้วย

 

1.การกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหุ้นส่วน ผ่านการบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการไม่ส่งเสริมการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฏหมายระหว่างกลุ่มมิตรผล ภาครัฐ ชาวไร่ และผู้รับเหมาร่วมด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเขตโรงงานและชุมชนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง

 

2.การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบในแต่ละโรงงาน โดยหน่วยงานกำกับดูแล (Compliance Team) ก่อนจะได้รับการตรวจประเมินขั้นสุดท้ายจากหน่วยงานภายนอก

 

3.การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ด้วยข้อกำหนดที่ชัดเจนในการห้ามใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับร่วมกับชาวไร่คู่สัญญาและผู้รับเหมา

 

4.การสื่อสารและฝึกอบรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดความตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เกิด หรือแก้ไขได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ร่วมด้วยการปรับหน่วยงานรับผิดชอบจากส่วนงานเดียวเป็นองค์รวม

 

5.การติดตามการปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง โดยกำหนดให้ประเด็นปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายเป็นหนึ่งใน Key Risk Indicator (KRI) ในความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งต้องรายงานต่อคณะบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกเดือน (Risk Management Committee)

 

6.การพยายามแก้ไขให้สามารถปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง โดยการจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงเพื่อการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

 

7.การทบทวนที่เป็นอิสระ โดยการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ (External Audit) เพื่อให้การรับรองการเป็นสถานประกอบกิจการที่ไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย

 

8.การรายงานผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

 

นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังได้มีการกำหนดแผนงานเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระยะยาว ด้วยการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการนำเครื่องมือเครื่องจักรสมัยใหม่ทางการเกษตรมาใช้ในทุกขั้นตอนการปลูกอ้อย เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม