MANUFACTURING

ข้องใจ BOI อนุมัติตั้ง 2 โรงงานฝุ่นเหล็ก อุ้ม "ซิงค์อ๊อกซ์ฯ" เปิดทางนำเข้าวัตถุดิบหวั่นขัด "บาเซล"
POSTED ON 19/11/2556


การผลิตอุตสาหกรรม - วงการเหล็กเป็นงง บีโอไอเคาะส่งเสริมกิจการนำฝุ่นจากเตาหลอมเหล็ก หรือฝุ่นแดงกลับมาใช้ใหม่ 2 ราย มีชื่อ "ซิงค์ อ๊อกซ์ฯ" ได้เอี่ยว ทั้งที่ยื่นเสนอกำลังผลิต 200,000 ตัน/ปี ซ้ำจะขอนำเข้าฝุ่นแดง เพราะฝุ่นในประเทศรองรับได้แค่ 100,000 ตัน สวนทางกับความเห็นของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมฯระบุชัด ให้ใช้ฝุ่นแดงในประเทศเท่านั้น

 

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้อนุมัติการส่งเสริมกิจการนำฝุ่นเหล็กจากเตาหลอมเหล็ก (ฝุ่นแดง) กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 2 รายที่มีคะแนนสูงสุด จากที่มีผู้ยื่นเสนอเข้ามารวม 6 ราย คือ (1) บริษัท สยาม เมทอล รีไซเคิล จำกัด เงินลงทุน 1,317 ล้านบาท กำลังผลิต 100,000 ตัน/ปี ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ฝุ่นจากเตาหลอมอาร์คไฟฟ้า (EAF Dust) จำนวน 100,000 ตัน/ปี และ (2) บริษัท ซิงค์ อ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 3,838 ล้านบาท กำลังผลิต 200,000 ตัน/ปี ใช้วัตถุดิบในประเทศ คือ ฝุ่นจากเตาหลอมอาร์คไฟฟ้า 100,000 ตัน/ปี และนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศอีก 100,000 ตัน/ปี

 

ภายหลังการประชุมสิ้นสุดลงได้มีการวิจารณ์ถึงความเหมาะสมของบริษัท ซิงค์ อ๊อกซ์ฯว่า ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาโครงการดังกล่าวของบอร์ดบีโอไอ คณะทำงานชุดย่อยเพื่อพิจารณาการส่งเสริมกิจการรีไซเคิลฝุ่นเตาหลอมอาร์คไฟฟ้า รวมถึงคณะทำงานย่อย ได้ลงความเห็นว่ากิจการดังกล่าวไม่เคยมีการประกอบกิจการขึ้นในประเทศ และมีความเสี่ยงค่อนข้างมากต่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จึงควรเลือกโครงการที่มีหลักฐานแสดงความเชื่อมั่นมากที่สุด รวมถึงเมื่อพิจารณาจากปริมาณวัตถุดิบ คือ การผลิตเหล็กจากเตา EAF เหลือประมาณ 3.3 ล้านตัน ทำให้มีฝุ่นแดงเหลือเพียง 58,000 ตัน

 

พร้อมให้ความเห็นว่าควรพิจารณาคัดเลือกเพียงโครงการเดียวก่อนจนกว่าจะมีความมั่นใจด้านเทคโนโลยี และปริมาณฝุ่นแดงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก่อน จึงพิจารณาคัดเลือกโครงการใหม่เพิ่มเติม แต่กลับพิจารณาส่งเสริมบริษัท ซิงค์ อ๊อกซ์ฯเพิ่มเติมเข้ามาอีก

 

คำนวณแค่ปริมาณฝุ่นแดงในประเทศขณะนี้สร้างโรงงานรีไซเคิลฝุ่นแดงได้แค่ 1 โรงเท่านั้น และจริง ๆ มันมีแนวโน้มลดลงเรื่อย เพราะมีการนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีบางโรงงานที่หยุดการผลิตชั่วคราว ยิ่งทำให้ฝุ่นแดงลดปริมาณลงเรื่อย ๆ รวมถึงโจทย์ของบีโอไอต้องการให้ใช้เฉพาะวัตถุดิบคือฝุ่นแดงที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น แต่โรงงานของบริษัท ซิงค์ อ๊อกซ์ฯขอนำเข้าฝุ่นอีก 100,000 ตัน เพื่อให้เดินเครื่องได้คุ้มทุน ซึ่งหากบีโอไอยึดการพิจารณาตามโจทย์ดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในลำดับคะแนนถัดไปน่าจะเหมาะสมกว่าด้วยซ้ำ เพราะทุกรายยื่นเสนอกำลังผลิตที่ 100,000 ตัน และใช้ฝุ่นแดงที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น

 

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงก่อนการพิจารณาของบอร์ดบีโอไอได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้บริษัทซิงค์ อ๊อกซ์ฯได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงอุตสาหกรรม ของคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมกิจการรีไซเคิลฝุ่นเตาหลอมอาร์คไฟฟ้า ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงาน ให้ความเห็นว่า ควรพิจารณาการส่งเสริมในกิจการดังกล่าวไม่เกิน 2 ราย เนื่องจากถ้าพิจารณาให้การส่งเสริมเพียงรายเดียวอาจจะเกิดการผูกขาด และทำให้โรงหลอมเหล็กจากเตา EAF ต้องส่งฝุ่นแดงให้เฉพาะรายที่ได้รับการคัดเลือกเท่านั้น

 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมอาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่าบริษัท ซิงค์ อ๊อกซ์ฯจะต้องมีการนำเข้าฝุ่นแดงเข้ามา จะเป็นการทำผิดอนุสัญญาบาเซล (การควบคุมเคลื่อนย้ายและกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน) หรือไม่

 

ทั้งนี้ หากต้องการพิจารณาส่งเสริมกิจการในกิจการดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกราย เอกชนรายอื่นๆ ที่เสนอขอส่งเสริมเข้ามาโดยใช้วัตถุดิบในประเทศรวมถึงใช้เทคโนโลยีที่มีความใกล้เคียงกันกลับไม่ได้รับการพิจารณาส่งเสริมคือ

 

(1) บริษัท โกลบอล สตีล ดัสท์ (ประเทศไทย) จำกัด

(2) บริษัท เบเฟชา ซิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด

(3) บริษัท ฝุ่นแดง จำกัด และ 4) บริษัท อะกะปะ กรุ๊ป จำกัด

 

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมกิจการนำฝุ่นจากเตาหลอมเหล็ก (ฝุ่นแดง) กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ มีความพยายามมาตั้งแต่ช่วงปี 2553 เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่ามีปริมาณเฉลี่ยการผลิตเหล็กกล้าทั้งประเทศช่วงปี 2549-2553 กำลังผลิตเฉลี่ย 4.8 ล้านตัน/ปี จะมีปริมาณฝุ่นแดง 72,000-96,500 ตัน/ปี สามารถนำมารีไซเคิลสังกะสีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ประมาณ 17,582-23,443 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 34-45 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,088-1,440 ล้านบาท/ปี จึงคุ้มค่าในการนำมาเข้ากระบวนการเพื่อนำสังกะสี (Zinc Recovery) กลับมาใช้ใหม่

 

สำหรับผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนคือ บริษัท สยาม เมทอล รีไซเคิล จำกัด พื้นที่ตั้งโรงงานคือนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี จะใช้เทคโนโลยีแบบพลาสมา เทคโนโลยีของประเทศนอร์เวย์ และยืนยันว่าจะมีผู้ป้อนวัตถุดิบคือฝุ่นแดง รวม 100,000 ตัน/ปี จาก 8 รายคือ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน), บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด, บริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด, บริษัท ไทรอัมพ์สตีล จำกัด, บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน) และโรงงานเหล็กกรุงเทพ จำกัด

 

ส่วนบริษัท ซิงค์ อ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด พื้นที่ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ใช้เทคโนโลยีแบบเตาฮาร์ทแบบหมุน จะมีผู้ป้อนวัตถุดิบให้คือ ปริมาณรวมทั้งสิ้น 100,000 ตัน จาก บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ, จี สตีล, บริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) และคาดว่าอีก 100,000 ตันจะนำเข้าจากออสเตรเลียและไต้หวัน เป็นต้น