LOGISTICS

คมนาคมเร่งพัฒนาระบบขนส่ง ชี้ งบประมาณเป็นปัญหาหลัก
POSTED ON 06/08/2558


โลจิสติกส์อุตสาหกรรม - นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการทบทวนแผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งและจราจร พ.ศ.2554-2563 ว่า ในการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมมักจะติดขัดในเรื่องของงบลงทุน-งบประมาณ โดยเฉพาะการดำเนินงานในขั้นตอนด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้มีความล่าช้า เนื่องจากมีกระบวนการซับซ้อน ซึ่งแนวทางในการแก้ไขต้องดำเนินงานจำเป็นจะต้องมีการตัดสินใจในระดับนโยบายให้รวดเร็ว รวมถึงต้องบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ

 

นายสิทธา เจนศิริศักดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ได้มีการทบทวนแผนหลักฯดังกล่าว เพื่อปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้มีความสอดคล้องกับโครงการตามแผนหลักฯ เพื่อให้การดำเนินโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งได้ปรับเป้าในการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงส่งเสริมการประหยัดพลังงานในการขนส่งที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม โครงการที่สำคัญในแผนหลักฯ คือการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประตูการค้าหลักและการค้าชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงเมืองหลัก

 

ด้าน น.ส.รัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชื่อว่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ 62 รายที่ได้มอบประกาศเกียรติคุณและผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการประจำปีนี้ โดยตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวแล้วจำนวน 268 ราย ซึ่งธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์กลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์ในการต่อยอดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจไปสู่มาตรฐาน ISO9001 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันได้ เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ไทยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ทำให้มีจุดด้อยจากการดำเนินธุรกิจยังไม่ครบวงจร

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะใช้งบประมาณมาเน้นผลักดันให้ผู้ประกอบการ เข้าสู่ระบบ ISO 9001 ให้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 100 ราย โดยจากจำนวนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมีอยู่กว่า 19,900 ราย แต่มีผู้ให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ที่ผ่านมาตรฐานเพียง 260 รายเท่านั้น และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ทั้งเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ และระบบ ISO9001 อีก 6,700 ราย เพื่อเร่งเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่สามารถเชื่อมต่อพื้นที่กับประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเกิดผลดีด้านคมนาคมและการค้าตามมา จึงเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยที่จะเร่งยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อก้าวไปสู่การให้บริการอันเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล

 

ขณะที่ทางสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ระบุว่า ภาพรวมมูลค่าการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ของทั้งประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรก ลดลงร้อยละ 2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลก เพราะธุรกิจการให้บริการส่วนใหญ่จะผูกติดกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ เพราะความได้เปรียบจากศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่ปัจจุบันเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกไปแล้ว แต่ยังต้องจับตาปัจจัยภายนอกทั้งสถานการณ์ในกรีซ ค่าเงินบาท และภัยแล้ง ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยในครึ่งปีหลังจะต้องรักษาธุรกิจให้ทรงตัวไปก่อน ซึ่งอยากให้ภาครัฐบาลเร่งพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนในการขนส่งสินค้า นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินการอยู่