LOGISTICS

เร่งเครื่องผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยพัฒนามาตรฐานแข่งสากล
POSTED ON 23/07/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจบริการที่เร่งรัดเปิดเสรี ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบการในประเทศอาเซียนสามารถถือหุ้นในประเทศสมาชิกได้ 70% ทำให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติ เริ่มรุกคืบเข้ามาประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยกันมากขึ้น และการแข่งขันจะยิ่งรุนแรงขึ้น หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เต็มรูปแบบในปี 2558 แต่จากการสำรวจพบว่าธุรกิจโลจิสติกส์ไทยส่วนใหญ่ยังไม่พัฒนามาตรฐานให้ บริการได้ทัดเทียมระดับสากล

 

"ตอนนี้ธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยมีถึง 18,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริการขนส่งทางบกในไทย 71% เพียง 2% ที่ให้บริการระหว่างประเทศได้ และไม่ถึง 5% ให้บริการได้แบบครบวงจร ทั้งธุรกิจส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี หากไม่มีความเข้มแข็งเพียงพออาจประสบปัญหาถูกต่างชาติฮุบตลาดได้ กรมจึงรับข้อเสนอธุรกิจโลจิสติกส์ให้มีการรวมตัวของผู้ประกอบการแล้วจัดตั้งเป็นสภาธุรกิจโลจิสติกส์เหมือนสภาอุตสาหกรรมหรือสภาหอการค้า เพื่อจะได้มีกฎหมายรองรับและอำนาจต่อรองในการเจรจาหรือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในระยะยาวจะทำให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและแข่งขันได้กับต่างชาติ"

 

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ข้อจำกัดของธุรกิจโลจิสติกส์ไทย คือ บริการได้ครบวงจร ศักยภาพการแข่งขันยังไม่สูงเพื่อขาดเรื่องเทคโนโลยีในการพัฒนาการให้บริการ แผนงานที่กรมดำเนินการขณะนี้ คือ การยกระดับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สู่มาตรฐานสากล ISO โดยการสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ การยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจและมาตรฐานสากล และ การสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล ซึ่งปัจจุบัน มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO แล้วจำนวน 187 ราย ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 5 พันรายหรือเกือบ 30% ของทั้งหมด

 

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ประกอบด้วยธุรกิจให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจตัวแทนออกของผ่านพิธีการทางศุลกากร และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2557) มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวน 18,518 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2556 (16,000 ราย) จำนวน 2,518 ราย หรือเพิ่มขึ้น 15.74% และมีทุนจดทะเบียนรวม 297,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 (234,000 ล้านบาท) จำนวน 63,982 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.34 %

 

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมจัดทำโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับผู้ส่งออก เป้าหมายจะส่งเพิ่มให้ลดต้นทุนไม่น้อยกว่าปีละ 3% ซึ่งเป็นนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ความสำคัญ โดยกรมตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการอีก 30 ราย จากที่ได้ส่งเสริมแล้ว 117 ราย และสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์การค้าได้กว่า 1,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ทางด้าน นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์การค้า รุ่นที่ 6 ประจำปี 2557 เพื่อให้ผู้ประกอบการในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์การค้าที่เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้และสามารถสร้างต้นแบบการดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยมีตัวแทนสถานประกอบการเข้าร่วมอบรมกว่า 100 คนจากจำนวน 30 บริษัท กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์การค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ผ่านโครงการ "ลดต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับผู้ส่งออก" ซึ่งเป็นโครงการที่กรมฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552-2556 และที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จในการยกระดับประสิทธิภาพ การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์การค้าของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์การค้าได้กว่า 1,000 ล้านบาท

 

ในส่วนของโครงการ "ลดต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับผู้ส่งออก" รุ่นที่ 6 ประจำปี 2557 กรมฯ ได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาผู้ประกอบการจำนวน 30 ราย ให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์การค้าในรอบ 1 ปี ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ที่มา : มติชน, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น