HOT

รัฐบาลไทย-คิงส์เกต ต่างตั้งทีมกฎหมายเจรจาหาข้อยุติกรณีสั่งปิดเหมืองอัครา
POSTED ON 09/01/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดตั้งคณะนักกฎหมายขึ้น เพื่อต่อสู้ หักล้างข้อกล่าวหา ในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด (Kingsgate Consolidated Ltd) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวหาการออกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธ.ค.2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจการเหมืองทองคำต้องถูกระงับลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นมา เป็นการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

 

“ผมขอยืนยันในนามรัฐบาลไทยว่า เรามีความพร้อมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาของคิงส์เกตในทุกกรณี และมั่นใจว่าคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559 ซึ่งมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาคประชาชนร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนเพื่อให้เกิดความชัดเจน มิได้มุ่งหวังที่จะทำลายธุรกิจของภาคเอกชน คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ชุมชน ประชาชน ผู้ประกอบการ อย่างครบถ้วนและชอบธรรม คำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยข้อตกลง TAFTA ทุกประการ ซึ่งรัฐบาลไทยยังคงยึดมั่นและตระหนักในพันธกรณีตามข้อตกลงที่ผูกพันอยู่ รวมทั้งข้อตกลง TAFTA โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals-SDGs อีกด้วย” นายพสุ กล่าว

 

ด้าน นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ระบบการตั้งอนุญาโตตุลาการจะประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) ผู้ฟ้อง (2) ผู้ถูกฟ้อง และ (3) คนกลาง ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลไทยได้เสนอชื่อ นายคริสโตเฟอร์ โธมัส (Christopher Thomas) ทนายความทางด้านอนุญาโตตุลาการชั้นสูง ประเทศแคนาดา ขณะที่ทางด้านบริษัท คิงส์เกตฯ ได้เสนอชื่อ นายนีล แคปแลนด์ (Neil Kaplan) ทนายความด้านอนุญาโตตุลาการชั้นสูง ประเทศอังกฤษ ซึ่งทนายจากทั้ง 2 ฝ่ายมีสถานะเป็นนักกฎหมายอิสระที่มีความเชี่ยวชาญในการทำคดีพิเศษเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าต่าง ๆ การค้าเสรีระหว่างประเทศ

 

โดยหลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องเสนอชื่ออีกฝ่ายละ 5 คน รวมเป็น 10 คน เพื่อให้หน่วยงานกลางสำนักอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้อนุญาโตตุลาการของแต่ละฝ่ายคัดเลือกเหลือเพียง 1 คน เพื่อเป็นประธานคนกลางขึ้นมา โดยเบื้องต้นจะต้องมีคุณสมบัติความชำนาญ เหมาะสม และเคยทำหน้าที่ด้านกฎหมายอนุญาโตตุลาการมาก่อน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องดำเนินการภายในเดือน ม.ค.2561

 

ทั้งนี้ เมื่อได้อนุญาโตตุลาการครบ 3 คนแล้ว จะหาสถานที่กลางสำหรับเจรจาให้อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของศาลและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เพื่อให้ได้สิทธิการบังคับคดีตามพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ซึ่งไทยอาจเลือกใช้ประเทศสวีเดนหรืออังกฤษ ส่วนคิงส์เกตฯ คาดว่าจะใช้ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากกฎหมายการค้าเสรีการลงทุนค่อนข้างดี จากนั้นจะเจรจาโดยเริ่มนำข้อตกลง TAFTA มาพิจารณารายละเอียดเป็นครั้งแรกว่าขัดกับกฎหมายอย่างไร

 

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายในเดือน ม.ค.2561 นี้ จะให้อนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นมาร่างขอบเขตงาน (TOR) ว่ากระบวนการจะเดินอย่างไร จากนั้นจะเสนอ ครม.รับทราบ และขออำนาจให้อนุญาโตตุลาการทำหน้าที่แทนรัฐบาลไทยในการเจรจา ทั้งนี้ คิงส์เกตฯ ยังไม่ได้มาเจรจาอย่างเป็นทางการ เพราะอยู่ระหว่างปรับนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ หลังเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้นบางราย ขณะที่ไทยจะเดินคู่ขนานกระบวนการอนุญาโตตุลาการและการเจรจายุติข้อพิพาทคู่กัน ดังนั้น หากสามารถหาข้อยุติที่ดีร่วมกันได้ ก็สามารถถอนอนุญาโตตุลาการได้

 

สำหรับ บริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย เริ่มประกอบกิจการเหมืองทองคำและกิจการโลหกรรมในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และเคยถูกสั่งปรับรวมถึงถูกสั่งระงับการประกอบกิจการหลายครั้ง เนื่องจากละเมิดกฎหมายไทย เช่น กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยโรงงาน เป็นต้น ก่อนที่จะถูกระงับการประกอบการชั่วคราว

 

นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีประชาชนเข้าร้องเรียนต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และกรมควบคุมมลพิษ ว่าพบน้ำเน่าเสียในพื้นที่นาใกล้กับบริเวณบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองแร่ทองคำชาตรี และขอให้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว ซึ่ง นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ด้านงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่า “บริษัทฯ ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพลงพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเข้าสำรวจจุดที่ได้รับแจ้งอย่างเร่งด่วน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมกับวัดคุณภาพของน้ำที่เก็บไปว่ามีคุณลักษณะทางเคมีและกายภาพที่มีสารปนเปื้อนจากการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองแร่ทองคำชาตรีหรือไม่”

 

“เบื้องต้นผลวิเคราะห์จากทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทฯ ไม่พบสารไซยาไนด์หรือสารใด ๆ ที่ใช้ในโรงงาน แต่พบสารอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ธาตุเหล็ก แมงกานีส สารหนู ไทโอไซยาเนต และซัลเฟต ซึ่งมีค่าไม่แตกต่างจากจุดควบคุมแต่อย่างใด โดยธาตุเหล็กและแมงกานีสที่ตรวจพบมีค่า 23.9 และ 6.27 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ เทียบกับน้ำในนาควบคุมที่อยู่ห่างจากเหมืองไปทางต้นน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร ที่มีค่าธาตุเหล็กและแมงกานีสอยู่ที่ 30.6 และ 5.85 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ คำตอบที่น่าจะถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากที่สุด คือ เกิดจากการหมักหมมของตอซังข้าวที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน และเมื่อไหลไปตามลำรางสาธารณะซึ่งมีใบยูคาลิปตัสล่วงลงมาสะสมตัวอยู่ด้านล่างในลำรางเป็นจำนวนมาก ยิ่งส่งผลให้น้ำเกิดการเน่าเสียได้ในระดับที่สูงขึ้น" นายเชิดศักดิ์ กล่าว

 

ขณะที่ผลการศึกษาจาก กพร. ระบุว่า ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัคราฯ เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ พิจารณาก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการต่อไป