HOT

ไทยหวังขยับเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของอาเซียน แข่งสิงคโปร์
POSTED ON 30/05/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ประเทศไทยได้เตรียมงบประมาณราว 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท สำหรับลงทุนในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อดึงดูดบริษัทซ่อมบำรุงเครื่องบินจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน หวังผลักดันไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีสิงคโปร์เป็นฐานใหญ่ของกิจการดังกล่าว แต่เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวในสิงคโปร์เริ่มเข้าสู่ภาวะแออัด และความต้องการจากบรรดาสายการบินในภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านยนตรกรรมและวิศวกรรม จึงคาดว่าไทยจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะตอบสนองความต้องการภายในภูมิภาคได้

 

ทั้งนี้ รายงานของเว็บไซต์ Southeast Asia Globe ซึ่งอ้างอิงบริษัทผู้ประกอบกิจการซ่อมบำรุงสนามบินในไทย ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่สำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังมีค่าแรงราคาถูกและรัฐบาลมีมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนที่เป็นผลประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีด้วย

 

ขณะที่ทางด้าน นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการ บีโอไอ เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 24 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอะไหล่เครื่องบินในประเทศไทย ส่วนอีก 12 บริษัทประกอบธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องบินอยู่แล้ว ทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาธุรกิจด้านนี้ให้เท่าเทียมกับสิงคโปร์ซึ่งมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงเครื่องบินอยู่ประมาณ 100 กว่าบริษัท

 

โดยล่าสุด บริษัท Sikorsky Aircraft บริษัทในเครือ Lockheed Martin เองก็เตรียมที่จะศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในกิจการ MRO ในประเทศไทย ต่อจากบริษัท Airbus SE ที่เพิ่งลงนามข้อตกลงกับการบินไทยเมื่อเดือน มี.ค.2560 ที่ผ่านมา เพื่อประเมินโอกาสในการพัฒนาโรงซ่อมเครื่องบินที่อู่ตะเภา

 

“ในช่วงปี 2560-2564 รัฐบาลไทยต้องการที่จะพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาธุรกิจด้านการบินแล้ว ไทยยังมีแผนใช้งบประมาณอีกหลายแสนล้านบาทในการสร้างรางรถไฟความเร็วสูง สร้างเมืองใหม่ และพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่มเติม โดยรัฐบาลจะเป็นเจ้าของและบริหารสนามบินกับท่าเรือเอง ส่วนโครงการอื่น ๆ จะเป็นการร่วมทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นเจ้าของ” นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ICF International บริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐฯ ระบุว่า ในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2558-2568 การใช้จ่ายเพื่อการซ่อมบำรุงของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีน) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 7,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.7 แสนล้านบาท มากกว่าการใช้จ่ายของสายการบินตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ