HOT

ปตท.หืดจับ หลังอินโดฯเรียกค่าเสียหายเกือบ 7 หมื่นล้านบาท เหตุน้ำมันรั่วจากแหล่งมอนทารา
POSTED ON 08/05/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายอาลีฟ ฮาวาส โอโกรเซโน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลของอินโดนีเซีย (The Coordinating Ministry for Maritime Affairs) แถลงว่า ทางการอินโดนีเซียได้ยื่นฟ้องร้องทางกฎหมายต่อศาลแขวงจาการ์ตากลาง เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา เพื่อเอาผิดกับ ปตท., พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (PTTEP Australasia) บริษัทลูกของ ปตท.ในประเทศออสเตรเลีย และ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) จากเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบริเวณแหล่งขุดเจาะมอนทาราของ ปตท.สผ. นอกชายฝั่งออสเตรเลียในปี 2552 จนทำให้มีน้ำมันมากกว่า 400 บาร์เรลต่อวัน รั่วไหลลงสู่ทะเลติมอร์

 

แม้ว่า พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย จะส่งให้หน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย หรือ AMSA (the Australian Maritime Safety Authority) จัดการทำความสะอาดคราบน้ำมันตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุก็ตาม แต่การล้อมคราบน้ำมันและดูดกลับรวมถึงฉีดสารเคมีนั้นต้องใช้เวลาในการระงับเหตุถึง 74 วัน ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งป่าชายเลนถึง 2,965 เอเคอร์ (ประมาณ 7,500 ไร่), หญ้าทะเล 3,460 เอเคอร์ (ประมาณ 8,750 ไร่) และ ปะการัง 1,730 เอเคอร์ (ประมาณ 4,300 ไร่)

 

โดยทางการอินโดนีเซียได้เรียกร้องเงินชดเชยจำนวน 1,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 59,000 ล้านบาท สำหรับค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,000 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในงานด้านการฟื้นฟู

 

ขณะที่ทางด้าน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ได้ออกมาแถลงหลังจากรับทราบเรื่องดังกล่าว ว่า ปตท.สผ.ได้ทราบข่าวเรื่องการฟ้องร้องดังกล่าวแล้ว แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ จึงไม่ทราบรายละเอียดของการยื่นฟ้องครั้งนี้

 

ปตท.สผ.ขอชี้แจงว่า นับจากที่เกิดเหตุการณ์มอนทาราจนถึงปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอินโดนีเซียมาโดยตลอด และพร้อมให้ความร่วมมือต่อไป โดยจะพิจารณาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะรับผิดชอบตามข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งในปีที่เกิดเหตุ ทาง PTTEP Australasia ในฐานะผู้รับสัมปทานและเป็นผู้ดำเนินการโครงการมอนทารา ได้ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อทำการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทำการศึกษาและวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำมัน และผลการศึกษาก็สรุปออกมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในน่านน้ำออสเตรเลียและและบริเวณใกล้เคียงน่านน้ำอินโดนีเซียแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ ยังได้ทำการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงการสร้างแบบจำลองการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมัน (Trajectory Modelling) พบว่า คราบน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในน่านน้ำออสเตรเลีย ที่สำคัญคือคราบน้ำมันไม่ได้ลอยเข้าสู่แนวชายฝั่งทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณแนวปะการังบริเวณใกล้เคียงกับน่านน้ำอินโดนีเซีย เพื่อตรวจสอบว่ามีคราบปิโตรเลียมหรือไม่ ผลการทดสอบพบว่า ไม่พบคราบปิโตรเลียมซึ่งมาจากการรั่วไหลของแหล่งมอนทารา และไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อสภาพปะการังในบริเวณดังกล่าว

 

จากผลการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งควบคุมโดยหน่วยงานรัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย ยืนยันได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณที่ติดกับน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยสามารถเข้าไปอ่านผลการศึกษาวิจัยได้ที่ http://www.au.pttep.com/sustainable-development/environmental-monitoring/

 

ต่อมาในปี 2553 ปตท.สผ. และ PTTEP Australasia ได้รับทราบว่า รัฐบาลอินโดนีเซียยื่นข้อเรียกร้องค่าเสียหายว่าน้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อการประมง ทาง ปตท.สผ. และ PTTEP Australasia  จึงได้ประสานงานกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ปตท.สผ. และ PTTEP Australasia ยินดีที่จะเจรจาอย่างสุจริตใจและร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียในการพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงจัดส่งผลการศึกษาให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ยังไม่เคยได้รับพยานหลักฐานที่ชัดเจนจากรัฐบาลอินโดนีเซียที่แสดงให้เห็นได้ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจากเหตุการณ์มอนทาราในประเทศอินโดนีเซียแต่อย่างใด

 

PTTEP Australasia ได้เจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเวลาพอสมควร และพยายามที่จะประสานงานเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง PTTEP Australasia กับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อยุติและพิสูจน์ความเสียหาย (หากมี) ร่วมกัน เริ่มด้วยการให้ทั้งสองฝ่ายจัดส่งเอกสารหลักฐานในส่วนของตน โดย PTTEP Australasia ได้ดำเนินการจัดส่งผลการศึกษา แต่ทางรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ได้จัดส่งเอกสารเพื่อพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงยังไม่อนุญาตให้ PTTEP Australasia เข้าพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ MOU ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกลางร่วมกัน เพื่อให้ความเห็นจากผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง ปตท.สผ.และ PTTEP Australasia ยินดีที่จะรับฟังหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้น และพร้อมจะรับผิดชอบหากมีความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง

 

ทั้งนี้ การตัดสินใจฟ้องร้องของรัฐบาลอินโดนีเซียเกิดขึ้นภายหลังการเจรจาต่อรองโดยไม่ต้องฟ้องร้องคดีกับ ปตท.สผ. ไม่มีความคืบหน้ามาตั้งแต่ปี 2555