HOT

2 โรงงานเหล็กโครงสร้างขนาดใหญ่ปิดตัว ต้านเหล็กจีนไม่ไหว
POSTED ON 09/01/2560


 

ข่าวอุตสาหกรรม – ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ต่อกรณีที่ นายเภา บุญเยี่ยม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเปิดเผยว่า ราคาขายเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนภายในประเทศอยู่ที่ 19-20 บาท/กิโลกรัม (19,000-20,000 บาท/ตัน) ส่วนเหล็กจีนนำเข้ามาขายในราคาถูกกว่า 2-3 บาท หรือ 16-19 บาทต่อกิโลกรัม (16,000-19,000 บาท/ตัน) ดังนั้น ทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทยต่อจากนี้ไปจะต้องมุ่งในเรื่องของการเสริมคุณภาพมาแข่งขันกัน ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศที่มีจำนวนมากกว่า 100 ราย เป็นกลุ่มเตาหลอมหรือผู้ผลิตเหล็กได้เองจากเตาหลอมจำนวน 16 ราย และโรงรีดเหล็กอีกประมาณ 100 รายนั้น ส่วนใหญ่ต้องหันมาผลิตเหล็กเกรดพิเศษและแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ เพิ่ม เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท เช่น บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จํากัด ซึ่งผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ได้เริ่มพัฒนาเหล็กเกรดพิเศษที่มีคุณสมบัติเบา แต่รับแรงและน้ำหนักได้มากขึ้นกว่าเหล็กประเภทเดิมหลายเท่า และเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างเขื่อนคันดิน ซึ่งมีคุณสมบัติรับแรงดันจากน้ำหรือเวลาน้ำท่วมได้

 

ทั้งนี้ จะเร่งหารือกับภาครัฐให้กำหนดสเป็กเหล็กในงานก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ให้ต้องใช้เหล็กที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและป้องกันปัญหาการถูกทุ่มตลาด อีกทั้งยังต้องเร่งหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐาน มอก.เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป (เพื่อนำมาประกอบแบบน็อกดาวน์) เนื่องจากปัจจุบันเหล็กดังกล่าวไม่มีมาตรฐาน มอก. ทำให้จีนใช้วิธีหลีกเลี่ยงพิกัดจากศุลกากร 7216 มาเป็นพิกัด 7308 ที่ไม่มีมาตรฐาน มอก.ของไทย

 

"ทางออกของผู้ประกอบการเหล็กไทย คือ การร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ ในการออกมาตรการ AD และร่วมกับ สมอ.เร่งกำหนดในการออกมาตรการป้องกันเหล็กคุณภาพต่ำเข้าประเทศ และร่วมกับกรมศุลกากร ในการตรวจจับเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และที่ลักลอบเลี่ยงภาษี เปลี่ยนพิกัด ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้า 3 หน่วยงาน สามารถดำเนินงานและควบคุมปัญหานี้ได้จะไม่ทำให้ผู้ประกอบการรายใดต้องปิดตัว แม้ว่าขณะนี้จะมีโรงงานผลิตเหล็กโครงสร้างขนาดใหญ่ปิดตัวไป 2 รายแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีโรงงานขนาดใหญ่ปิดตัวเพิ่มอีก 1 รายตามมา"

 

นายบุญเลิศ คลอวุฒิเสถียร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายสังกะสี บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการทุ่มตลาดดัมพ์ราคาของเหล็กนำเข้าจากประเทศจีน ได้สร้างมูลค่าความเสียหายให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยทั้งปี 2559 กว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปี 2560 ทำให้โรงงานผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยบริษัทฯได้มองหาช่องทางธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะหันไปสู่ธุรกิจภาคบริการที่ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตเหล็กเพียงอย่างเดียว เช่น งานซ่อมบำรุงเครื่องจักรอุตสาหกรรม งานซ่อมบำรุง ล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ล้างเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งหลายบริษัทเริ่มมองหาโอกาสในการปรับตัวเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ การที่บริษัทฯเป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทั้งเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย รวมถึงแผ่นเหล็กอาบสังกะสี ได้เริ่มพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายเป็นทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น เช่น หลังคาเคลือบเมทัลชีต คุณสมบัติป้องกันการกัดกร่อนได้หลายเท่า ซึ่งเป็นการผสมระหว่างอะลูมิเนียมและสังกะสี เพราะความต้องการในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่มยอดขายและรายได้ให้บริษัท แต่ยังถือว่าเติบโตช้าเพราะติดปัญหาเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ว่าจะกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับหรือไม่ เพราะปัจจุบันเป็นเพียงมาตรฐานทั่วไป จึงทำให้เกิดสินค้าด้อยคุณภาพและแข่งขันด้วยราคาถูกกันมากในท้องตลาด

 

นายบุญเลิศ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า “ขณะเดียวกันจะพยายามพัฒนาให้เป็นเหล็กเกรดพิเศษที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมเฉพาะ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน แต่ยอมรับว่าการจะผลิตเหล็กเกรดพิเศษเรื่องสำคัญ คือ การหาตลาดที่จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีพาร์ตเนอร์ โดยอย่างยิ่งเรื่องสายสัมพันธ์ ซึ่งต้องเหนียวแน่นและใช้ความสนิมสนมมากพอสมควร”

 

"การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้เหล็ก แน่นอนว่าค่ายรถในประเทศมีคู่ค้าอยู่แล้ว ยิ่งค่ายญี่ปุ่นต้องการใช้พาร์ตเนอร์บริษัทผลิตเหล็กที่มีญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ แต่เราไม่ใช่ จึงเป็นอุปสรรคเหมือนกัน ดังนั้น เราต้องหาช่องทางอื่นและหาสินค้าที่ตลาดต้องการในตอนนี้ ยิ่งหากสถานการณ์เหล็กปีหน้ายังเป็นแบบนี้ แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือ อย่างมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD (Anti-dumping) แต่ยังมีอีกหลายมาตรการที่ใช้ไม่ได้ผล และในที่สุดเหล็กจีนจะหลีกเลี่ยงพิกัดนำเข้าใหม่ ผู้ผลิตเหล็กไทยจะทยอยขาดทุน และในที่สุดต้องปิดกิจการถาวร" นายบุญเลิศ กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics