HOT

พ.ร.บ.ปิโตรฯยังวุ่น ด้าน คปพ.ชี้ พบจุดอ่อนเปิดช่องทุจริต
POSTED ON 16/11/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 16 พ.ย.2559 - นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากจะมีการลงมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.2 ฉบับว่าจะแก้ไขหลักการหรือไม่ ซึ่งได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ คปพ.ต้องการให้ตีกลับมาเพื่อแก้ไขหลักการเสียก่อน เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้นถูกร่างมาอย่างไม่สมบูรณ์ มีช่องโหว่ และไม่เป็นไปตามรายงานผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

      

นอกจากนี้ ทาง คปพ.ยังเรียกร้องด้วยว่า ในการประชุม ครม.ครั้งล่าสุดขอให้มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการคืนท่อก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สาธารณชนรับทราบ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทราบมาว่า ครม.มีวาระลับกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลังเร่งหาข้อยุติดังกล่าวให้เสร็จตั้งแต่ 24 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเกินกำหนด หากไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้จะถือว่า ครม.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

      

ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้งตนและ คปพ.ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ทั้ง 2 ฉบับมาอย่างต่อเนื่อง เพราะพบว่ายังไม่โปร่งใส แต่ถึงแม้จะมีการท้วงติง กระทรวงพลังงานก็ยังคงเดินหน้าผลักดันร่างดังกล่าว และยังคงยึดหลักแนวทางปฏิบัติไม่ต่างจากกฎหมายสัมปทานเดิมที่การพิจารณามีการใช้ดุลพินิจจำนวนมาก เปิดโอกาสการทุจริต ซึ่งจะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาอยู่นั้นล่าช้าก็เพราะรู้ดีว่ามีช่องโหว่ และไม่เป็นไปตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง

      

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล หนึ่งในแกนนำ คปพ.กล่าวว่า คปพ.เห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งคัดบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ-บงกชที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-66 แต่จำเป็นจะต้องใช้กฎหมายที่มีความสมบูรณ์ และสิ่งที่น่าห่วงสุดคือกฎหมายที่กำลังพิจารณาที่ไม่มีการแก้ไข โดยยังคงจุดอ่อนเปิดช่องทุจริต และฟอกเงิน เพราะการพิจารณาให้สิทธิแก่เอกชนยังคงใช้หลักดุลพินิจของราชการเป็นหลัก ซึ่งบางกรณีนำไปสู่การฟอกเงิน โดยตนได้ยืนเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกำลังให้ข้อมูลอยู่

 

ขณะที่ทางด้าน นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) เพื่อใช้ภายในประเทศ และทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะมีต้นทุนสูงกว่าก๊าซธรรมชาติ โดยในระยะยาวประเมินว่า ไทยต้องนำเข้า LNG สูงถึง 30-35 ล้านตันต่อปี และไทยอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงด้านพลังงาน”

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics