HOT

ผลสำรวจ ชี้ โบนัสเฉลี่ยขององค์กรธุรกิจปี 2560 อยู่ที่ 2.6 เดือน
POSTED ON 21/11/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 21 พ.ย.2559 - ดร.รุ่งโรจน์ อรรถานิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสกิลล์พลัส จำกัด และผู้อำนวยการโครงการสำรวจค่าจ้างสถาบัน เอชอาร์ เซ็นเตอร์ ได้เผยถึงผลการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี 2559/2560 จาก 22 ธุรกิจ 347 องค์กร พบว่า ประมาณการณ์การขึ้นค่าตอบแทนประจำปีจะต่ำกว่าปี 2558/2559 สะท้อนปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งออกที่ต่ำกว่าประมาณการและผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร

 

ในการขึ้นค่าจ้างและจ่ายโบนัสประจำปีมีเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญก็คือ ดัชนีผู้บริโภค ผลประกอบการขององค์กร และผลปฏิบัติงานของพนักงาน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งในปีนี้เป็นประเด็นเรื่องการขึ้นค่าจ้างของรัฐบาล

 

สำหรับดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) ถ้าปีไหนขึ้นสูง ตัวเลขการปรับค่าจ้างก็ควรจะสูงขึ้น สำหรับปีนี้ตัวเลข CPI ของประเทศไทยใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือตัวเลขที่ 9 เดือนอยู่ที่ 0.02% คาดการณ์ทั้งปีคงไม่เกิน 0.06 % ทั้งนี้ หากแยกค่า CPI ตามหมวดธุรกิจ จะพบว่า หมวดที่เพิ่มขึ้น คือ หมวดอาหาร เพิ่มขึ้น 1.73% หมวดยารักษาโรค เพิ่มขึ้น 1.11% และหมวดเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น 0.45%

 

ส่วนหมวดที่ลดลงคือ หมวดพลังงาน ติดลบ -4.61% และหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งติดลบ -2.75% นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมค่าครองชีพของลูกจ้างถึงไม่ค่อยเพียงพอ เพราะหมวดที่เพิ่มขึ้นล้วนเป็นสิ่งของที่จำเป็นทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ ของที่จำเป็นต้องใช้แพงขึ้นนั่นเอง

 

ในการขึ้นค่าจ้าง หากนายจ้างจะนำ CPI มาเป็นเกณฑ์หนึ่งในการปรับค่าจ้าง ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่เกินปีที่แล้วคือ 1-2% และอาจจะนำอัตราที่เพิ่มขึ้นของหมวดปัจจัย 4 มาเป็นเกณฑ์พิจารณาปรับเพิ่มด้วย ก็จะช่วยลูกจ้างได้มากขึ้น

 

สำหรับอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา ก็คือ ผลประกอบการขององค์กร แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาองค์กรอาจมีกำไรดี แต่ปีนี้ผลประกอบการอาจไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น การจ่ายค่าจ้างและโบนัสจึงอาจไม่ดีเท่าเดิม นายจ้างจึงควรใช้กลไกการจ่ายโบนัสให้น่าพอใจแทนการขึ้นค่าจ้างในอัตราที่สูง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นภาระผูกพันระยะยาว ส่วนโบนัสเป็นการจ่ายปีต่อปีตามผลกำไร จึงอาจปรับเปลี่ยนได้ตามผลประกอบการ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้หลายองค์กรอาจมีปัญหาว่าผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่เพื่อขวัญกำลังใจของพนักงาน องค์กรก็ควรจะตั้งงบประมาณสำหรับเรื่องนี้ไว้ประมาณ 3-4% ซึ่งจากการสำรวจพบว่าตลาดจะปรับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 5%

 

ขณะที่ในแง่ผลปฏิบัติงานของพนักงาน การนำเรื่องนี้มาพิจารณาปรับค่าจ้างประจำปี คงต้องอิงระบบบริหารงานบุคคลขององค์กรด้วยว่ามีความชัดเจนในระบบการประเมินผลมากน้อยแค่ไหน ระบบที่วางไว้เป็นที่ยอมรับของพนักงานและผู้บริหารเพียงใดด้วย เพื่อให้พนักงานมองว่าการปรับค่าจ้างและจ่ายโบนัสมีความยุติธรรม และคนที่ทำดีก็ได้รับผลดี ทั้งนี้ พบว่าองค์กรต่าง ๆ ได้มีการนำระบบประเมินผลงานมาใช้ในการขึ้นค่าจ้างและจ่ายโบนัสมากขึ้น

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในปีนี้ ก็คือ นโยบายในการปรับค่าจ้างของรัฐบาล ซึ่งคงต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 0-10 บาทตามกลุ่มจังหวัดที่คณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้เสนอ เรื่องนี้องค์กรต้องเตรียมวางแผนรับการปรับค่าแรงขั้นต่ำไว้ด้วย หากจังหวัดของตนมีการปรับค่าแรงตามประกาศ องค์กรจะปรับให้พนักงานอย่างไร และจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า สัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อยอดขายปัจจุบันอยู่ที่ 15.98%

 

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ 22 กลุ่มธุรกิจ 347 องค์ สรุปได้ว่า เปอร์เซ็นต์ในการปรับค่าจ้างประจำปีเฉลี่ยอยู่ประมาณ 5% ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5.3% กลุ่มธุรกิจยังมีกำไรและจ่ายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ (2) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และ (3) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์

 

ส่วนโบนัสเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ 2.6 เดือน ใกล้เคียงกับปีทีแล้ว โดยกลุ่มธุรกิจที่จ่ายโบนัสได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) กลุ่มบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ (2) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ (3) กลุ่มเคมีภัณฑ์

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics