HOT

โรงงานสิ่งทอไทยในกัมพูชาส่อปิดกิจการ หลังรัฐบาลเขมรประกาศปรับค่าแรงใหม่
POSTED ON 06/02/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

ข่าวอุตสาหกรรม - นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศกัมพูชาได้มีการประกาศขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอัตราใหม่ประจำปี 2560 จาก 138 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 4,850 บาทต่อเดือน) เป็น153 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 5,350 บาทต่อเดือน) ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกาไทยหลายรายที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณว่าอาจมีการปิดกิจการโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชาแล้ว

 

ทั้งนี้ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ซึ่งหลายรายเป็นผู้ประกอบการชาวไทยว่าจะได้รับผลกระทบและมีผลต่อซัพพลายเชนของไทยหรือไม่ แม้จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในการส่งออกไปตลาดยุโรปและอเมริกาก็ตาม

 

สำหรับภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 1/2560 นั้น กลุ่มเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดอาเซียน เพราะตลาดยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย เนื่องจากเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพและการส่งมอบสินค้าตรงเวลา ส่วนผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่าจะขยายตัวไม่มาก เนื่องจากปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรปและอเมริกา ชะลอตัว

 

นอกจากนี้ ศสอ.ยังคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยช่วงไตรมาส 1/2560 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.36% แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 200,000 คัน เพิ่มขึ้น 10.16% ส่งออก 300,000 คัน ลดลง 2.52% เนื่องจากตลาดคู่ค้าที่สำคัญยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เช่น อเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง

 

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะขยายตัว 4.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเติบโต 0.5% จากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น ที่มีความต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า อาจขยายตัว 9.01% จากการเติบโตของชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในเทคโนโลยีขั้นสูง

 

ในส่วนอุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าจะมีความต้องการในตลาดประมาณ 4.92 ล้านตัน เติบโต 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเติบโตในกลุ่มเหล็กทรงยาวที่ใช้ในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐทั้ง 36 โครงการ

 

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารนั้นคาดว่าจะหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.1% เนื่องจากการผลิตสินค้าที่สำคัญลดลง เช่น น้ำตาล เนื่องจากผลผลิตอ้อยฤดูการผลิต 2559/2560 มีแนวโน้มลดลงจากฤดูการผลิตที่แล้ว จากผลกระทบภัยแล้ง