HOT

การนิคมฯติดตามสถานการณ์น้ำท่วม 24 ชม. มั่นใจพื้นที่อุตฯไม่กระทบ
POSTED ON 27/09/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 27 ก.ย.2559 – นสพ.โพสต์ทูเดย์  รายงานข่าวในวันนี้ต่อกรณีที่ นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วนบริเวณภาคกลางตอนบน รวมถึงน้ำเหนือที่จะเข้ามาสมทบ โดยเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมหนาแน่นในภาคกลาง โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื่องจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีระบบการจัดการที่ดี ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าสถานการณ์น้ำในภาพรวมจะไม่เพิ่มสูงจนส่งผลกระทบต่อนักลงทุน

 

“ยอมรับว่ายังมีความกังวลจากผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีการถามเข้ามาถึงการดูแลสถานการณ์น้ำ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็ได้แจ้งไปยังนักลงทุนแล้วว่ามีแผนรับมืออยู่แล้ว ดังนั้น โรงงานอุตสาหกรรมก็ยังดำเนินการได้ตามปกติ ขณะที่พื้นที่ จ.ปทุมธานี นั้นไม่มีความกังวล เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ถือว่าไม่มีความเสี่ยงขณะนี้" นายสมชาย กล่าว

 

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กนอ.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด โดยติดตามรายงานจากศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีหน้าที่แจ้งเหตุการณ์ทั่วไปและแผนรับมือน้ำเบื้องต้น ขณะเดียวกัน กนอ.ก็มีการวางแนวทางปฏิบัติการกรณีที่มีน้ำเข้ามาใกล้บริเวณนิคมฯอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการซ้อมแผนรับมืออุทกภัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์

 

"สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกนิคมฯ และส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่พื้นที่อุตสาหกรรม ขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรมเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะผู้ประกอบการก็มีแผนรับมือในช่วงเวลาที่น้ำมาก ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีแผนรับมืออยู่แล้ว" นายวีรพงศ์ กล่าว

 

ขณะที่ทางด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือรายงานต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทราบผลการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีมติให้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท เพิ่มจาก 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขอระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มจาก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายตั้งแต่ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กระทบกับประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ

 

"ขณะนี้จะยังไม่ผันน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถบริหารได้ ทางกรมฯจะต้องเก็บแก้มลิงไว้ หากกรณีน้ำมามากเกินคาดก็จะตัดยอดน้ำเข้าแก้มลิง โดยจะเฝ้าระวังว่าหากน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง และขณะนี้ให้ทุกจังหวัดไปสำรวจว่าแต่ละทุ่งมีข้าวที่รอการเก็บเกี่ยวเท่าไร และที่เก็บเกี่ยวแล้วที่ไหนบ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์" นายสุเทพ กล่าว

 

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดอยู่ที่ 1,790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นระดับที่น้ำยังไม่วิกฤต ส่วนเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำ 720 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลืออีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเต็มเขื่อน โดยมีน้ำไหลลงอ่าง 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เขื่อนระบายออก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดว่าประมาณ 10 วันจะเต็ม เพราะฉะนั้นจะต้องระบายเพิ่มเพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำ

 

ขณะที่ปริมาณน้ำที่หน้าค่ายจิรประวัติอัตราการไหลอยู่ที่ 1,780 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา 1,790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีน้ำไหลผ่าน 467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้มีน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาอยู่ที่ 7,459 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics