HOT

ไทย-อินโดฯ-มาเลย์ ร่วมตั้งตลาดกลางยางพารา สร้างโอกาสตลาดใหม่
POSTED ON 27/09/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 27 ก.ย.2559 - เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ร่วมกันเปิดตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค หรือ RRM (Regional Rubber Market) เป็นวันแรก ตามมติที่ประชุมระดับรัฐมนตรีไตรภาคียาง (International Tripartite Rubber Council : ITRC) ซึ่งแต่ละประเทศมีข้อกำหนด ระเบียบการซื้อขายยาง วิธีการซื้อขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรฐานและชนิดของสินค้าร่วมกันโดยคุณภาพสินค้าประเภทยางแผ่นรมควันใช้มาตรฐาน Green book ส่วนยางแท่ง (Technically specified Rubber : TSR) จะใช้มาตรฐานสากลในการควบคุมคุณภาพ

 

ขณะที่คุณสมบัติของผู้ขายยางในตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคนั้น กำหนดให้ต้องมีโรงงานในการผลิตยางแผ่นรมควันและยางแท่งที่ผ่านการอนุมัติรับรอง (Approved factory list) จากตลาดยางสิงคโปร์ (SICOM) ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ โดยมีกระบวนการตรวจสอบเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและการคัดกรองบริษัทผู้ที่จะเข้ามาจำหน่ายยาง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าในตลาดได้เป็นอย่างดี

 

นายสุธี อินทรสกุล รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะประธานคณะทำงานการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค เปิดเผยว่า ในการทำธุรกรรมนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องวางหลักประกันธนาคารในรูปของเงินสดหรือสินทรัพย์คิดเป็น 20% ของมูลค่า ซึ่งในส่วนของผู้ขายสามารถใช้ยางที่มีอยู่จริงในโกดังเป็นหลักประกันแทนเงินสดได้

 

ส่วนการจับคู่สัญญาในระบบจะใช้วิธีการจับคู่โดยอัตโนมัติ (Continuous auto matching) จะพิจารณาจากคำสั่งซื้อหรือขายที่มีการเสนอชนิดยาง ปริมาณยาง ท่าเรือส่งมอบตรงกัน รวมถึงราคาต่อกิโลกรัมซึ่งมีมูลค่าเป็นหน่วยดอลล่าร์สหรัฐ โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความพึงพอใจในราคาที่ตรงกัน ทำให้เกิดการซื้อขายยางในระบบอย่างยุติธรรม โดยจะกำหนดให้มีการส่งมอบจริงภายใน 30 วันหลังจากการเปิดรับซื้อขายในระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ทั้งนี้ หลังจากเปิดตลาด RRM วันแรก ผู้ซื้อขายยางส่วนมากจะเข้าสู่กระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในตลาดเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่อยู่ในรายชื่อการอนุมัติรับรองจาก SICOM แล้วจำนวน 5 ราย ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของตลาด RRM ได้แก่ (1) บริษัท บี.ไรท์ รับเบอร์ จำกัด (B.Right Rubber) (2) บริษัท เซาท์แลนด์ รีซอร์ซ จำกัด (Southland Resources) (3) บริษัม เมทัลโค จำกัด (Metalco) (4) บริษัท โอเรียนตัล รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด (Oriental Rubber Products) และ (5) บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด (Southland Rubber)

 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสถาบันเกษตรกรที่สนใจเข้ามาขายยางในตลาด RRM อีกจำนวน 4 ราย ได้แก่ (1) ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด (2) กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ (3) กลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา และ (4) สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด โดยทั้ง 4 ราย เป็นสถาบันเกษตรกรชั้นนำของประเทศที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จาก กยท.แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอรับรองจากคณะกรรมการอนุมัติผู้ขายเพิ่มเติมจากสภาไตรภาคียางระหว่างประเท ให้เข้ามาเป็นผู้ขายยางในตลาด RRM ต่อไป

 

“กยท.มั่นใจว่าการซื้อขายยางผ่านระบบตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการหาตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบการยางและสถาบันเกษตรกรได้ อีกทั้งเป็นการซื้อขายยางในราคาที่ยุติธรรม (Fair Price) ผู้ซื้อได้สินค้าที่มีมาตรฐานตรงกับความต้องการ ตลอดจนเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสถาบันเกษตรกรให้เกิดการรวมตัวกันแปรรูปยางที่มีคุณภาพผ่านรับมาตรฐาน GMP สามารถขายผ่านระบบ RRM ให้กับผู้ซื้อยางในตลาดต่างประเทศได้โดยตรง" นายสุธี กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics