HOT

สอน.เสนอรัฐใช้ ม.44 เคลียร์ปัญหาผังเมือง ตั้งโรงงานน้ำตาล
POSTED ON 27/09/2559


27 ก.ย.2559 – นสพ.ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้มีการพิจารณาและออกใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่จำนวน 22 โรงงาน จากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายที่ยื่นความประสงค์จะตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล รวมทั้งขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมาคิดเป็นกำลังการผลิตรวมประมาณ 4.21 แสนตันอ้อยต่อวัน และมีการออกใบรับรองในการขยายกำลังการผลิตอีกจำนวน 17 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิต 3.36 แสนตันอ้อยต่อวัน โดยให้มีระยะเวลาการก่อสร้างโรงงานและเปิดดำเนินการได้ภายใน 5 ปี นับจากวันออกใบอนุญาต

 

โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการจะต้องไปเร่งการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การทำแผนส่งเสริมปลูกอ้อย ที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปีแรกควบคู่กับทำ EIA เป็นต้น เพื่อป้องกันผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว แต่ไม่สนใจที่จะลงทุนหรือนำไปดองไว้ซึ่งเป็นการกันสิทธิ์โรงงานอื่น ทำให้ผู้ที่สนใจรายอื่นและชาวไร่อ้อยเสียโอกาสในการสร้างรายได้

 

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของ สอน.พบว่า ยังมีบางพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาผังเมืองรวม ที่ห้ามให้มีการตั้งและขยายโรงงานน้ำตาลทราย โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ ชัยภูมิ, สระแก้ว, พะเยา, เชียงราย, ปราจีนบุรี, นครสวรรค์, สุรินทร์ และบึงกาฬ จึงทำให้มีโรงงานน้ำตาลทรายที่ขอตั้งใหม่จำนวน 10 แห่ง และขอขยายโรงงานน้ำตาลอีก 4 แห่ง รวมจำนวน 14 แห่ง ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้

 

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเรื่องไปยังคณะทำงานด้านกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในมาตรา 44 ยกเว้นข้อบังคับการใช้ผังเมืองรวม ที่ห้ามตั้งโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการลงทุน ซึ่งทางคณะทำงานได้พิจารณาแล้ว และให้กระทรวงอุตสาหกรรมประมวลผล ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด เพื่อนำเสนอคณะทำงานด้านกฎหมาย และจะเสนอไปยังหัวหน้า คสช.อีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.ย.2559 นี้

 

“หากจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายผังเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ตามขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายไม่มีความมั่นใจที่จะไปลงทุน และใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือขยายโรงงานที่ให้ไปอาจจะหมดอายุก่อนที่โรงงานจะสร้างเสร็จ เมื่อรัฐบาลเปิดช่องให้นำเสนอเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยในมาตรา 44 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงขออำนาจในส่วนนี้มายกเว้นการห้ามตั้งโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับกระทรวงพลังงานที่ขอยกเว้นการตั้งโรงไฟฟ้าในหลายพื้นที่ไปแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ หากสามารถปลดล็อกปัญหาผังเมืองได้ จะทำให้การลงทุนในช่วง 5 ปีนี้เดินหน้าไปได้ เพราะประเมินโรงงานน้ำตาลที่ขอตั้งใหม่ทั้ง 22 แห่งจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับโรงงานน้ำตาลที่ขอขยายกำลังการผลิตอีก 17 แห่ง จะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 85,000 ล้านบาท รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 165,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน กระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

 

ด้าน นายพิชัย อุทัยเชฎฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ทางกรมฯสามารถผ่อนผันให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตโรงงานน้ำตาลก่อสร้างในพื้นที่ควบคุมทางผังเมืองรวมจังหวัดได้ แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งผ่านมายังกรมฯแต่อย่างใด ซึ่งมองว่าอาจมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับระยะห่างที่ตั้งโรงงานน้ำตาล 50 กิโลเมตรจากโรงงานเดิม และปัญหาผังเมืองรวมจังหวัดที่ประกาศไปแล้ว ประกอบกับบริเวณที่เอกชนจะลงทุนโรงงานน้ำตาลเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics