HOT

ครม.ไฟเขียวเอกชนสามารถตรวจสอบเครื่องจักรแทนเจ้าหน้าที่รัฐได้แล้ว
POSTED ON 16/09/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 16 ก.ย.2559 - นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน พ.ศ. ... และ (2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจสอบเครื่องจักรหลักเกณฑ์และวิธีตรวจสอบเครื่องจักรและการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเครื่องจักรเอกชน พ.ศ. ...

 

โดยร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนี้จะกำหนดให้เอกชนสามารถเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนเจ้าพนักงานได้ โดยมีมาตรฐานควบคุมผู้ตรวจสอบเอกชนอีกชั้นหนึ่ง ภายใต้ พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2558 และได้มีการประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้ผู้ตรวจสอบเครื่องจักรเอกชนมีการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และปฏิบัติงานในมาตรฐานเดียวกับเจ้าหน้าที่

 

“จากการนำร่างกฎกระทรวงไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ปรากฏว่าไม่มีผู้คัดค้านในหลักการ แต่ต้องการให้ข้อความในร่างกฎกระทรวงชัดเจน เช่น การกำหนดเกณฑ์มูลค่าเครื่องจักรตามระดับของใบอนุญาตว่าจะถือเอาราคาซื้อเครื่องจักรในเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือราคาตลาดในขณะที่ได้เครื่องจักรเป็นเกณฑ์" นายสมชาย กล่าว

 

ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ตรวจสอบและออกใบอนุญาตเครื่องจักร แต่เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่มีจำกัดจึงทำให้เกิดความล่าช้า ดังนั้น การอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรได้จะทำการออกใบอนุญาตเครื่องจักรรวดเร็วขึ้น แต่กระทรวงฯก็จะยังคงเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตอีกชั้นหนึ่ง

 

ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ก.ย.2559 นี้ กรอ.จะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันการเงินอีก 9 แห่ง เปิดตัวโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำเครื่องจักรในโรงงาน มาจดทะเบียนเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ และนำเงินไปปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยธนาคารออมสินตั้งเป้าวงเงินปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4%

 

สำหรับโครงการนี้มีระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

 

1. กรอ.จะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก โดยเข้าไปตรวจสอบจดทะเบียนเครื่องจักรเพื่อนำไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยตั้งเป้าผู้ประกอบการร่วมโครงการปีละ 500 ราย และ 1,500 ราย ภายใน 3 ปี

 

2. เปิดรับสมัครให้เอสเอ็มอีขอกู้นำไปปรับปรุงเครื่องจักรเก่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย กรอ.ได้ว่าจ้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาช่วยประเมินว่า เอสเอสเอ็มอีควรปรับปรุงเครื่องจักรเก่าอย่างไรบ้าง เช่น การเปลี่ยนจากเครื่องจักรแบบแมนนวลเป็นระบบออโตเมติกมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ยังรวมถึงการแนะนำสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ ตั้งเป้าปีละ 1,000 เครื่อง รวม 3 ปี 3,000 เครื่อง โดยเชื่อว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนจะมีเงินทุนหมุนเวียนเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่จะพิจารณาปล่อยกู้

 

ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบเครื่องจักรนั้นหากให้เอกชนเข้าตรวจสอบก็อาจจะมีค่าใช้จ่าย โดยค่าตรวจสอบเครื่องจักร 5 เครื่อง จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท แต่ถ้าให้ทาง กรอ.ตรวจสอบจะไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีวงเงินจำนองเครื่องจักรเพิ่มเป็น 800,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้น 60% จากปัจจุบันที่มีการจดทะเบียนอยู่ประมาณ 500,000 ล้านบาท

 

ในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 2559) มีผู้ประกอบการขอรับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 1,113 ราย โดยเครื่องจักรที่จดทะเบียนมีจำนวน 6,099 เครื่อง รวมมูลค่าการจดทะเบียนเครื่องจักร 559,583 ล้านบาท และมีการจดทะเบียนจำนอง 527 ราย วงเงินจำนองเครื่องจักร 358,705 ล้านบาท

 

ขณะที่สถิติการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (ม.ค.2556 – ธ.ค.2558) มีผู้ประกอบการขอรับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรรวม 4,852 ราย โดยมีเครื่องจักรที่จดทะเบียนจำนวนรวม 24,030 เครื่อง มูลค่าการจดทะเบียนเครื่องจักรรวม 1.32 ล้านล้านบาท และจดทะเบียนจำนองรวม 2,914 ราย วงเงินจำนองเครื่องจักรรวม 1.59 ล้านล้านบาท

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics