HOT

มิชลิน-บริดจสโตน ยักษ์ใหญ่ผลิตล้อยาง สั่งแบนยางพาราจากภาคอีสานของไทย
POSTED ON 31/08/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 31 ส.ค.2559 - หลังจากที่เมื่อวานนี้ นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ระดับโลก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างมิชลินและบริดจสโตนได้ประกาศยกเลิกการรับซื้อผลผลิตยางพาราจากภาคอีสานของไทย และพับแผนก่อสร้างโรงงานมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทในภาคอีสาน เนื่องจากพบว่ากว่า 80% ของพื้นที่มีการใช้กรดซัลฟิวริกใส่ในน้ำยางเพื่อให้น้ำยางเซทตัวเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพและอายุการใช้งานของยางล้อรถยนต์สั้นลง

 

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าของโครงการลงทุนสร้างโรงงานผลิตล้อยางว่าจะระงับการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงฯยังคงมีความเป็นห่วงเรื่องการลงทุนของประเทศที่ขณะนี้มุ่งเน้นเพิ่มผลิตภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นด้วยนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่ Industry 4.0 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำของแต่ละอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมล้อยางก็มีการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับผลิตสินค้า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมียางพาราคุณภาพสูงตามไปด้วย

 

“ทั้งนี้ ก็คงต้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้เกษตรกรชาวสวนยางเลิกใช้กรดซัลฟิวริก ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าเคยมีการรณรงค์ไปแล้ว แต่เนื่องจากกรดซัลฟิวริกมีราคาที่ค่อนข้างถูก เกษตรกรหลายรายจึงยังมีการใช้กันอยู่ ดังนั้น หน่วยงานที่ดูแลเกษตรกรชาวสวนยางต้องเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจและรณรงค์ให้เกษตรกรชาวสวนยางเลิกใช้กรดซัลฟิวริกให้ได้” นายสมชาย กล่าว

 

โดยอุตสาหกรรมผลิตล้อยางไทยใช้ยางพารารวมกันประมาณปีละ 400,000 ตัน ขณะที่การใช้ยางพาราทั้งประเทศอยู่ที่ปีละ 700,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการส่งออกยางรถเป็นอันดับ 5 ของโลก ขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยมียอดส่งออกรวมกันปีละกว่า 150 ล้านเส้น

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics