HOT

กอน.เตรียมแก้กฎหมายให้นำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นได้
POSTED ON 31/08/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 31 ส.ค.2559 - ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวในวันนี้ว่า นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมี ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบใหม่ โดยได้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี นอกเหนือจากการผลิตเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเปิดให้ตั้งโรงงานหีบอ้อย แต่ไม่มีการผลิตเป็นน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ตั้งโรงงานหีบอ้อยได้อย่างเสรี พร้อมทั้งให้นำรายได้จากการจำหน่ายกากน้ำตาล (โมลาส) เพื่อไปใช้ผลิตเอทานอล การจำหน่ายชานอ้อยเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า รวมถึงกากตะกรันที่นำไปทำปุ๋ย นำส่งเป็นรายได้เข้าระบบ เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย จากปัจจุบันไม่มีการนำส่วนดังกล่าวนี้มาแบ่งให้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งด้วย

 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหากรณีที่บราซิลจะยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย โดยเปิดทางฝ่ายไทยให้เจรจาถึงข้อกล่าวหาไปรอบหนึ่งแล้วเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา และจะต้องเดินทางไปชี้แจงอีกรอบหนึ่งในช่วงเดือน ต.ค.2559 นี้ ซึ่งทางประเทศไทยจะต้องเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายว่าจะดำเนินการอย่างไร ก่อนที่จะมีการยื่นฟ้อง WTO ต่อไป

 

ทั้งนี้ เนื่องจากทางบราซิลยังติดใจใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การกำหนดราคาน้ำตาลทรายในประเทศไม่เป็นไปตามข้อตกลงทางการค้า มีการควบคุมราคาภายในประเทศไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (2) การที่รัฐบาลกำหนดโควตาน้ำตาลทรายประกอบด้วยโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท.) และโควตา ค. (ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) นั้น ผิดหลักการค้าของ WTO (3) การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้ายในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ชาวไร่ไม่ต้องคืนเงินจากส่วนต่างที่ได้รับไปแล้ว และ (4) การอุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกให้กับชาวไร่อ้อยในอัตรา 160 บาทต่อตัน

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ข้อสงสัยต่าง ๆ ข้างต้น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ จึงได้เสนอแนวทางไว้และมีกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นกึ่งลอยตัวตามราคาตลาดโลก โดยอ้างอิงจากราคาน้ำตาลทรายขาวที่นำเข้ามาในประเทศ หรือไม่ใช้ราคาอ้างอิงจากราคาที่ส่งน้ำตาลทรายดิบออกไป และมีการประกาศราคาขึ้นลงเป็นระยะ ๆ คล้ายคลึงกับราคาน้ำมัน

 

อีกทั้งยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย ก. ข. และ ค. โดยจะให้แต่ละโรงงานน้ำตาลเป็นผู้สต็อกน้ำตาลทรายขั้นต่ำให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ส่งออก ซึ่งหากทางโรงงานไม่มีการสต็อกน้ำตาลทรายไว้ ก็จะไม่อนุญาตหรือไม่ออกใบขนส่งออกน้ำตาลทรายได้

 

พร้อมทั้งยกเลิกระบบประกันราคาอ้อยขั้นต้น หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ให้นำส่วนต่างของราคาอ้อยที่รับเงินไปแล้ว ให้ถือว่าชาวไร่เป็นหนี้ และให้ยกหนี้ไปคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูถัดไปแทน รวมทั้งจะไม่มีการนำเงินอุดหนุนต้นทุนชาวไร่ 160 บาทต่อตันอีกต่อไป

 

ดังนั้น เมื่อแนวทางผ่านการเห็นชอบแล้ว หลังจากนี้ไป จะนำเสนอ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อ ครม.เห็นชอบต่อไป อย่างช้าสุดไม่น่าจะเกินวันที่ 27 ก.ย.2559 เพื่อที่จะได้นำแนวทางดังกล่าวไปหารือกับทางบราซิลในช่วงเดือน ต.ค.2559 ว่ารัฐบาลไทยมีแนวทางและเวลาในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนตามข้อท้วงติงของบราซิล เพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้องต่อไป

 

ด้าน นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นกึ่งลอยตัวตามราคาตลาดโลก จะทำให้ราคาน้ำตาลรายขึ้นลงตามตลาดโลก ทำให้ราคาขายปลีกที่เคยควบคุมอยู่ที่ 23.50 บาทในร้านโมเดร์นเทรดหรือในร้านขายของชำทั่วไปที่ราคา 24-25 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่ที่ค่าขนส่ง โดยพาณิชย์จังหวัดที่เป็นผู้กำหนดราคาอ้างอิงที่เหมาะสมนั้นจะไม่มีการควบคุมแล้ว จะได้รับผลกระทบบางช่วงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพียงแต่การปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นกึ่งลอยตัวนั้น จะมีเพดานกำหนดกรณีที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมากผู้บริโภคภายในประเทศจะได้ไม่กระทบมาก ส่วนที่ยกเลิกการกำหนดโควตา ก. ข. และค. นั้น ไม่น่าจะมีอุปสรรคตามมาเนื่องจากกอน.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล กำกับ เหมือนพลังงาน ที่มีการกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปร.หรือค่าเอฟที โดยจะคำนึงว่าปริมาณน้ำตาลในประเทศจะต้องเพียงพอก่อนเป็นหลัก

 

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เช่น เครื่องดื่ม ขนม ที่ผลิตเพื่อส่งออกจะใช้น้ำตาลตามราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลและผลิตเพื่อใช้ในประเทศอาจกระทบบ้างบางช่วงกรณีราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้นจากเดิมที่ราคาน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศจะควบคุมราคาไว้

"ส่วนที่บราซิลมองว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนเงินค่าอ้อยนั้น ทางฝ่ายไทยได้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าเงินดังกล่าวนั้นเป็นเงินกู้จากกองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.) ที่ได้จากการขายน้ำตาลภายในประเทศ ซึ่งมาจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่ได้มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน" นายบุญถิ่น ระบุ

 

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย แต่เข้าใจว่าโครงการสร้างใหม่น่าจะมีการนำวัตถุดิบที่เหลือจากการหีบอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น ชานอ้อย กากน้ำตาล ที่จะต้องขายออกไปเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าและเอทานอลมาเป็นรายได้แบ่งเข้าระบบ ซึ่งทางโรงงานน้ำตาลคงไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าโรงงานได้จ่ายค่าอ้อยให้กับชาวไร่ไปตั้งแต่แรกแล้ว แต่เมื่อภาครัฐต้องการเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่ ทางโรงงานก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ต้องมีความชัดเจนในการคำนวณราคา

 

“ส่วนการตอบโจทย์กับทางบราซิล โดยเสนอแนวทางให้รัฐบาลเห็นชอบ และยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศมาเป็นกึ่งลอยตัวนั้น ก็ต้องขึ้นกับว่าจะใช้การอ้างอิงคำนวณราคาอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับผลกระทบ” นายชลัช กล่าว

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics