HOT

กยท. ยัน "มิชลิน-บริดจสโตน" ไม่ได้แบนซื้อยางภาคอีสานของไทย
POSTED ON 01/09/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 1 ก.ย.2559 - นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวที่ทางผู้บริหารของบริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด ออกมาระบุว่าบริษัทผู้ผลิตล้อยางยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างมิชลินและบริดจสโตนได้ประกาศงดรับซื้อยางจากพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทยนั้น ทาง กยท.ได้ประสานงานไปยังบริษัท สยามมิชลิน จำกัด เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งได้รับข้อมูลยืนยันจากผู้บริหารของทางบริษัทฯว่ายังไม่ได้มีการยกเลิกซื้อยางจากพื้นที่ในภาคอีสานของประเทศไทยตามที่เป็นข่าวแต่ประการใด

 

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯยังยืนยันที่จะก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 อยู่ และยังรับซื้อยางที่มาจากพื้นที่ทางอีสานของไทยต่อไป ส่วนโรงงานยางแท่งของ กยท. ทั้ง 3 แห่งยังรับซื้อตามปกติ

 

นายธีธัช กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทาง กยท.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเลิกใช้กรดซัลฟิวริกมาโดยตลอด เนื่องจากพบว่ากรดดังกล่าวทำให้คุณภาพยางมีปัญหา ทั้งยังมีกลิ่นรุนแรงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างถูกเพียงลิตรละ 20 สตางค์ ขณะที่กรดฟอร์มิกราคาลิตรละ 60 บาท จึงทำให้เกษตรกรเลือกใช้กรดซัลฟิวริก แต่หากยังใช้ต่อไปอาจจะเกิดปัญหาด้านราคาในระยะยาว

 

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และก่อนหน้านี้ได้มีการมอบหมายให้ กยท.ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจพร้อมชี้แจงให้เกษตรกรได้มีการปรับตัว โดยลดการนำเอากรดกำมะถันหรือซัลฟิวริก ซึ่งมีราคาถูกมาใช้เพื่อให้นำยางเซทตัวเร็วขึ้น เนื่องจากกรดดังกล่าวทำให้คุณภาพของน้ำยางมีความยืดหยุ่นต่ำ ส่งผลให้ยางล้อรถยนต์มีคุณภาพและอายุการใช้งานที่สั้นลง และควรนำสารชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติในการจับตัวยางตามคำแนะนำทางวิชาการ อย่างกรดฟอร์มิกมาใช้เป็นหลัก  

 

ส่วนการที่บริษัทผู้ผลิตล้อยางจะรับซื้อหรือไม่ซื้อยางที่มาจากภาคอีสานของไทยนั้น รมว.เกษตรและสหกรณ์ มองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของกลุ่มค้ายาง และขณะนี้กำลังเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่

 

ขณะที่ นายวีระศักดิ์  สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์เครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า ปัจจุบันชาวสวนยางยังนิยมใช้กรดซัลฟิวริก เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับกรดชนิดอื่น หากบริษัท ศรีตรังฯ ไม่ต้องการให้ใช้ ก็ควรปรับเพิ่มราคาตามต้นทุนการผลิตจากปัจจุบันเพียง 19 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 25 บาทต่อกิโลกรัม

 

“การที่บริษัท ศรีตรังฯ ออกมาอ้างถึง 2 บริษัทผู้ผลิตล้อยางว่าปฏิเสธรับซื้อยางจากภาคอีสานของไทยในครั้งนี้อาจเป็นแผนกดราคายางในประเทศ จากที่ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากในปีที่ผ่านมา 5 เสือผู้ประกอบการยางในประเทศมีแผนตั้งโรงงานยางแท่ง 16 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายการดำเนินการในภาคอีสานจำนวน 3 โรง ซึ่งก็รวมถึงบริษัท ศรีตรังฯ ด้วย ซึ่งการสร้างโรงงานยางแท่งแต่ละแห่งจะต้องมีพื้นที่ปลูกยางอย่างน้อย 2-3 แสนไร่ ในขณะที่ภาคอีสานมีโรงงานยางแท่งกระจายอยู่ทุกจังหวัด บางจังหวัดมีประมาณ 4-5 โรง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าบริษัท ศรีตรังฯ อาจเปลี่ยนแผนการลงทุน จึงออกข่าวในลักษณะดังกล่าว” นายวีระศักดิ์ กล่าว

 

ด้าน นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าวสปริงนิวส์ เพื่อชี้แจงถึงประเด็นที่มีการกล่าวอ้างถึงว่า “ข่าวที่ออกมาอาจจะดูรุนแรงไปหน่อย เพราะโดยข้อเท็จจริงไม่ควรใช้คำว่าแบนหรือหยุดซื้อ โดยเรามีความพยายามรณรงค์กันอยู่ เนื่องจากมีคำร้องขอมาจากฝั่งลูกค้า ซึ่งในกรณีที่ดีที่สุดยางไม่ควรมีกรดซัลฟิวริก แต่ควรใช้เป็นกรดฟอร์มิกแทน แต่เนื่องจากยางทางฝั่งภาคอีสานมีกรดซัลฟิวริกค่อนข้างมาก ดังนั้น จะใช้การแบนหรือหยุดซื้อทันทีเลยคงเป็นไปไม่ได้ และเรากับทางลูกค้าได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้ความรู้กับชาวสวนมาโดยตลอด ดังนั้น การสื่อสารต่อสาธารณะจึงต้องยืนยันว่าเป็นการรณรงค์ให้ลดใช้กรดซัลฟิวริก อันนี้น่าจะเป็นคำที่ถูกต้องมากกว่า เพราะอาจเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง”

 

“ที่ผ่านมาราคายางก็ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวสวนยางต้องลดค่าใช้จ่าย แล้วหันมาใช้กรดซัลฟิวริกมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าชาวสวนอาจจะไม่มีความรู้พอ ทำให้โดนผู้ค้าบางรายมาหลอกขาย เพราะถึงแม้ว่ากรดซัลฟิวริกจะถูกกว่ากรดฟอร์มิกก็จริง แต่ทำให้เกิดปัญหา โดยไม่ได้เกิดปัญหากับยางล้ออย่างเดียว แต่เกิดกับโรงงานของเราด้วย ซึ่งส่งผลกับกลิ่นโดยตรงเลย ทำให้กระบวนการผลิตมีกลิ่นออกมา โดยเราพยายามรณรงค์กันอยู่ แต่ไม่ได้ถึงขั้นแบน อันนี้ต้องแก้ข่าวด้วย” นายวีรสิทธิ์ กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics