HOT

SME ไทยยังน่าห่วง พบ 8 ปัญหาต้องเร่งแก้ไข
POSTED ON 31/08/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 31 ส.ค.2559 - นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินการสำรวจปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประจำปี 2559 จำนวน 4,883 ราย พบว่า มี 8 ปัญหาที่น่าเป็นห่วงตามลำดับ ดังนี้ (1) ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (2) ปัญหาด้านการผลิต (3) ปัญหาด้านการตลาด (4) ปัญหาการอยู่ร่วมกับสังคม (5) ปัญหาด้านการเงิน (6) ปัญหาด้านบุคลากร (7) ปัญหาด้านการจัดซื้อ และ (8) ปัจจัยการผลิตและปัญหาด้านการบริหารองค์กรและกลยุทธ์

 

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรคและผลกระทบมากที่สุด คือ อุสาหกรรมเซรามิคและแก้ว รองลงมาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากไม้และเครื่องเรือน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ หากเอสเอ็มอียังปรับตัวไม่ได้หรือไม่ได้รับการพัฒนาจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานและการส่งออก รวมถึงมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

 

ส่วน 3 สาขาอุตสาหกรรมที่มีปัญหาน้อย แต่ กสอ.เห็นว่าจำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องในสภาวะที่มีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยาง อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

 

ทั้งนี้ กสอ.ได้กำหนดแผนการดำเนินงานปี 2559-2560 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยกลยุทธ์ 3S คือ Start, Strong และ Sustain ตั้งงบประมาณดำเนินการรวม 850 ล้านบาท ในการพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 2,700 กิจการ และ 13,000 ราย โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค.2559 และคาดจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับเอสเอ็มอีได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

 

โดย S แรก คือ Start นั้นจะมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการใหม่และกลุ่มสตาร์ทอัพ เพิ่มความแข็งแกร่งแก่วิสาหกิจขนาดเล็กในช่วงก่อตั้งกิจการ พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างธุรกิจใหม่ให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจสากล โดยได้รับงบประมาณดำเนินการ 207 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 5,200 รายในปี 2560

 

ส่วน S ถัดมา คือ Strong เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการรายเดิม เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ทั้งการปรับแผนธุรกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งได้รับงบประมาณดำเนินการ 513 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายผลักดันให้เห็นผลสัมฤทธิ์ไม่น้อยกว่า 7,200 ราย ในปี 2560

 

สำหรับ S สุดท้าย คือ Sustain เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการบูรณาการการผลิตโดยนำระบบการจัดการที่ดีมาใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา เน้นการสร้างผลประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานให้มากที่สุด แต่ยังคงระดับทรัพยากรและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อสังคม เชื่อว่าการพัฒนาและการบูรณาการในกลยุทธ์นี้จะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการได้มากกว่า 600 ราย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics