HOT

สศอ.คาด Industry 4.0 อาจทำแรงงานภาคอุตฯตกงานกว่า 50% พร้อมเร่งเตรียมแผนรับมือ
POSTED ON 14/07/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 14 ก.ค.2559 - นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนและยุทธศาสตร์เพื่อรองรับภาคแรงงานไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ Industry 4.0 ซึ่งจะมีการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีเข้ามาจัดการกระบวนการผลิตและการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีแนวทางดำเนินงาน 5 ด้าน ประกอบด้วย

 

1. การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ใช้การส่งเสริมเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของภาคเอกชน

 

2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก (Eco System) เช่น ห้องปฏิบัติการทดสอบ ศูนย์ออกแบบ (Design Center)

 

3. สร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจโลก เน้นใช้ระบบไอที การพัฒนาสู่ระบบอัตโนมัติที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน

 

4. การพัฒนาทุนมนุษย์ เช่น พัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็น ได้แก่ การสร้างนวัตกรรม การทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ การพัฒนาเอสเอ็มอีเป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพสูงโดยใช้ไอทีมาช่วยในธุรกิจ

 

5. การพัฒนาองค์กรภาครัฐ เช่น การให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร การให้บริการผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยในลักษณะประชารัฐ

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอแผนดังกล่าวต่อ ครม.เพื่อพิจารณาได้ประมาณช่วงกลางเดือน ส.ค.2559 จากนั้นจะนำมากำหนดรายละเอียดของแผนปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแผนและยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะวางกรอบดำเนินงานระยะแรก 5 ปี (2561-2565) และจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงอุตสาหกรรม

 

"การก้าวสู่ Industry 4.0 ในระยะแรกคาดว่าแรงงานที่จะได้รับผลกระทบก่อนคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งแรงงานส่วนนี้ค่อนข้างมีทักษะ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น จึงต้องมาดูว่าจะโยกย้ายแรงงานเหล่านี้ไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างไร" นายสมชาย กล่าว

 

ด้าน นายสุรพล ชามาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า คาดว่าแผนเบื้องต้นจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้โดยกรอบจะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่จะมุ่งตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่(New S-Curve ) และเสนอ ครม.ภายใน ส.ค.2559 นี้ หลังจากนั้นจะมาลงรายละเอียดของแต่ละสาขาว่าการปรับเปลี่ยนไปสู่ Industry 4.0 จะกระทบแรงงานสาขาใด และจะต้องปรับไปสู่ Industry 4.0 อย่างไรบ้าง

 

“ปัจจุบันแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คิดเป็น 10% ของโรงงานทั้งประเทศ และเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง ส่วนที่เหลือประมาณ 80-90% เป็นแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ซึ่งในเบื้องต้นจะเน้นดูแลกลุ่มแรงงานสัดส่วน 10% ก่อน เนื่องจากมีการประเมินว่าแรงงานในกลุ่มนี้ประมาณ 50% อาจต้องเปลี่ยนงาน ซึ่งจำเป็นต้องประสานร่วมกับกระทรวงแรงงาน" นายสุรพล กล่าว

 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมประเมินแนวโน้มการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2559-2563) ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาทใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ประมาณ 360,000 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์ 80,000 ล้านบาท หุ่นยนต์และอาหาร ดิจิตอล ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป กลุ่มละประมาณ 30,000 ล้านบาท

 

ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีผู้ขอส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 280 โครงการ มูลค่า 91,000 ล้านบาท คิดเป็น 56% ของยอดการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีความชัดเจน ก็จะมียอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก

 

สำหรับในรายอุตสาหกรรมนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่มีผู้สนใจเตรียมขอยื่นรับการส่งเสริม 1 ราย มูลค่าโครงการประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดปลั๊กอิน ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและโลจิสติกส์จะมีการตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภา จ.ระยอง มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต่างชาติมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก และมีเครื่องบินเข้าออกหนาแน่นที่สุดในภูมิภาคนี้

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics