HOT

หลายฝ่ายเชื่อโตโยต้าปรับลดคนงานฝ่ายผลิตไม่กระทบวงกว้าง
POSTED ON 08/07/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 8 ก.ค.2559 - นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการปรับลดพนักงานของโตโยต้าว่าเป็นเรื่องทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้ และเป็นการตัดสินใจเชิงธุรกิจเพียงรายเดียว ไม่ใช่ปัญหาแรงงานทั้งระบบ ที่สำคัญการปลดพนักงานครั้งนี้ก็เป็นพนักงานภายนอก ซึ่งเป็นพนักงานรับเหมาค่าแรง (ซับคอนแทร็กต์) และเป็นการให้สมัครใจลาออก ไม่ได้บังคับ ส่วนพนักงานประจำไม่ได้มีการปลดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามพนักงานที่ลาออกว่าจะเคลื่อนย้ายหรือมีการสมัครงานใหม่อย่างไร ซึ่งก็มีอีกบางอุตสาหกรรมที่ยังขาดแรงงานอยู่มาก

 

“ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างชะลอตัว แต่ยอดขายก็ยังมีอยู่ไม่ได้หดหายไปหมดเหมือนช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนฯของไทยยังถือเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะต้องมีการผลักดัน เพราะไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียน" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

 

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาการสมัครใจเลิกจ้างของโตโยต้าจะไม่ลุกลามไปถึงบริษัทอื่น เนื่องจากข้อมูลของผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นอีกหลายค่ายยังขยายการผลิตต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมในขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ค่ายรถยนต์ปลดคนงาน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา สัญญาณการผลิตลดลงไปบ้างก็ตาม

 

ด้าน นายกรกฤช จุฬางกูร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 10% ในไตรมาสแรกของปีนี้  มีผลให้ยอดคำสั่งซื้อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชะลอตัวตามไปด้วย และกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มแรงงานภาคการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แม้จะไม่มีการปลดคนงาน แต่ก็ไม่ได้มีการรับคนงานเพิ่ม รวมถึงมีนโยบายลดกะการผลิตจาก 2 กะต่อวัน เหลือ 1 กะต่อวัน เพื่อลดต้นทุนค่าแรง และหันไปเพิ่มการทำงานล่วงเวลา (โอที) ในบางวันแทน

 

"แม้ว่ายอดการส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศยังขยายตัวประมาณ 2% แต่ผลลบจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงมาก ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีการลดต้นทุนด้วยการหันไปลดกะการทำงานลง และที่สำคัญอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้นเร็วเกินไป เพราะจะกระทบต่อการผลิตอีโคคาร์ เฟส 2 ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ผลิตเพื่อจำหน่ายในช่วง 5 ปีหลังเพิ่ม โดยหากเกิดความไม่ชัดเจนจะเกิดผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องได้" นายกรกฤช กล่าว

 

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง บางรายได้ปรับตัวด้วยการนำเครื่องจักรไปผลิตสินค้าอื่นแทนแล้ว อย่างเช่น เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น

 

ด้าน นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวถึงการปลดพนักงานของโตโยต้าว่าไม่ได้สะท้อนถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในปี 2558 ลดลงเหลือ 1.91 ล้านคัน และหลังจากสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก ยอดผลิตรถยนต์ก็ลดลงต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ไม่ได้ปลดคนงาน เพราะมองว่าในปีนี้ยอดผลิตน่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ผ่านมาครึ่งปีก็ยังไม่กระเตื้อง

 

นางเพียงใจ ยังระบุด้วยว่า ไม่ได้มีเพียงแค่โตโยต้าค่ายเดียวเท่านั้นที่ปรับลดคนงาน แต่ที่เป็นข่าวเพราะโตโยต้ามียอดการผลิตรถยนต์สูงสุด จึงถูกมองว่าลดคนงานจำนวนมาก และคาดว่าหลังจากนี้อาจจะมีค่ายรถยนต์อื่น ๆ ทยอยปลดคนงานอีก แต่ก็มีจำนวนไม่มาก เพราะการปลดคนงานจะต้องมีเหตุมีผล และต้องได้รับความยินยอม รวมทั้งแรงงานเหล่านี้มีทักษะการผลิตที่ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรม จึงคงไม่มีใครอยากจะปลดคนงานเหล่านี้ออก

 

ด้าน นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลกระทบ จากการที่โตโยต้าปลดคนงานไม่น่าจะกระทบกับซัพพลายเชนของภาคยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งสินค้าให้โตโยต้า และไม่กระทบกับการขยายสินเชื่อเช่าซื้อในประเทศด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบในส่วนของธุรกิจส่งออกที่คิดเป็น 60% ของโตโยต้า ซึ่งได้มีการรับรู้ถึงการชะลอตัวมาแล้วระยะหนึ่งและได้มีการปรับตัวไปบ้างแล้วพอสมควร จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรง

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics