HOT

ก.พลังงาน เร่งเครื่องดันรถยนต์ไฟฟ้า ชงตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 100 แห่งทั่วประเทศ
POSTED ON 11/08/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 11 ส.ค.2559 - ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการรับทราบรายงานความคืบหน้าแผนการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV) ในประเทศไทยตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2559 ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ในช่วง 2 ปี (พ.ศ.2559-2560) โดยโครงการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการนำร่องสาธิตการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารถยนต์มินิบัสไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (2) โครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทกริดเพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และ (3) โครงการศึกษาพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูงรองรับการติดฉลากเบอร์ 5 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 สถานี เพื่อรองรับโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขณะที่ทาง ขสมก.กำลังเร่งจัดหารถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าจำนวน 200 คัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.2560 ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องรถโดยสารรับส่งพนักงานจากสำนักงานใหญ่ของ ปตท.ไปสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต และคาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560 เช่นกัน

 

ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าและจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเส้นทางสุวรรณภูมิ-พัทยา คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560

 

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เสนอโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนจำนวน 100 สถานี เพื่อพิจารณา โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge จะให้การสนับสนุน 1,000,000 บาทต่อสถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge จะให้การสนับสนุน 100,000 บาทต่อสถานี

 

ส่วนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ทางกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จะเป็นผู้ดำเนินการด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ รูปแบบเต้ารับ และเต้าเสียบ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้กรมการขนส่งทางบกกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศเรื่องกำหนดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

 

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้กำหนดแนวทางการจดทะเบียนผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี โดยเน้นให้ราคาการอัดประจุไฟฟ้ากลางวันสูงกว่าการอัดประจุไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืน

 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพื้นฐานของประเทศให้สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หากมีการชาร์จไฟรถยนต์แบบ Quick Charge พร้อม ๆ กัน ระบบไฟฟ้าพื้นฐานต้องสามารถรองรับได้ ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพลังงานประมาณการณ์เบื้องต้นจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีถึง 1.2 ล้านคันในปี 2579 เมื่อถึง ณ ตอนนั้นประเทศไทยจะมีปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าตามแผนประมาณ 70,000 เมกะวัตต์ บวกกับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองประมาณ 15-20% ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics