HOT

มอก.เหล็กใหม่ 11 มาตรฐาน เตรียมประกาศใช้ ก.ย.นี้
POSTED ON 31/05/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 31 พ.ค.2559 - ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าววานนี้ต่อกรณีที่ นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาเปิดเผยว่า ตัวแทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กจาก 7 สมาคม ได้เข้าพบเพื่อสอบถามความคืบหน้าในการปรับแก้ 24 มาตรฐาน มอก.เหล็ก โดยในเดือน ก.ย.2559 นี้มาตรฐานเหล็กจะแล้วเสร็จ 11 มอก. ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 (กว.9) จำนวน 13 มอก. และปรับแก้เพิ่มเติมอีก 1 มาตรฐาน คือ มอก.1227 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน

 

โดยในวันที่ 3 มิ.ย.2559 นี้ สมอ.และ 8 สมาคมเหล็ก รวมถึงผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศ จำนวน 75 ราย จะเตรียมลงนามสัตยาบันไม่ผลิตเหล็กเบา เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นแก่เหล็กผู้ผลิตภายในประเทศ และคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีคุณภาพ

 

นอกจากนี้ สมอ.ได้เข้มงวดกวดขันและตรวจติดตามเหล็กในท้องตลาดทุกภาคของประเทศ ซึ่งยังพบว่ามีเหล็กคุณภาพไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายอยู่  โดยในเดือน ต.ค.2558 ถึงเดือน ก.พ.2559 ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้มีการยึดอายัดเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานไปแล้วถึง 4,146 ตัน มูลค่ารวม 1,534 ล้านบาท ส่วนในเดือน พ.ค.2559 ที่ผ่านมา มีการยึดอายัดเหล็กปริมาณกว่า 38,153 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท

 

รศ.เอนก ศิริพานิชกร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 (กว.9) ว่า ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหมายเลข มอก.20-2543 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต:เหล็กเส้นกลม และ มอก.24-2548 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต:เหล็กข้ออ้อย กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ (Technical File) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจทางเทคนิค/วิศวกรรม เพื่อการอนุญาตให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน มอก. ตั้งแต่การตรวจโรงงาน ขั้นตอนการผลิต จนถึงขั้นการส่งมอบถึงมือผู้ใช้ โดยเฉพาะคู่มือกระบวนการผลิตเรียบร้อยแล้ว คือ เตาจะต้องมีขนาด 5,000 กิโลกรัม (5 ตัน) และต้องผลิตเหล็กเส้นต่อเนื่องได้ชั่วโมงละ 10,000 กิโลกรัม (10 ตัน) เมื่อผลิตเหล็กเส้นได้แล้วจะต้องพิมพ์ตัวนูน ซึ่งเป็นตัวย่อของชนิดเตาที่ผลิตกำกับไว้ที่ตัวสินค้า โดยอาร์ก เฟอร์เนซ นั้น หากใช้การหลอมแบบโอเพ่นฮาร์ท จะใช้ตัวนูน “OH” และหากใช้การหลอมแบบเบสิกออกซิเจนจะใช้ตัวนูน “BO”

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ (บิลเลต) ที่จะใช้ในการหลอมเหล็กจากเตาอินดักชั่น เฟอร์เนซ สมอ.ได้ออกมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดอย่างปริมาณของสารเคมี 15 ธาตุ รวมถึงฟอสฟอรัส 0.28% คาร์บอน 0.06% และกำมะถัน 0.06% เพื่อป้องกันไม่ใช้นำเศษเหล็กมาเป็นวัตถุดิบ

 

รศ.เอนก ระบุว่า "ขณะนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว เบื้องต้นความเห็นสอดคล้องกัน รอนำเสนอให้ กมอ.รับรองอีกครั้ง คาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้ และหลังการพิจารณาเรียบร้อยแล้วนั้นทาง กว.9 เตรียมจะร่างหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบกระบวนการผลิตเหล็กเส้นเพิ่มเติมอีก คือ การกำหนดกำลังการผลิตของเหล็ก SD40 เหล็กข้ออ้อย หรือต้องมีกำลังรับแรงดึง (การประเมินความแข็งแรง) ในงานที่จุดครากไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เพราะได้มีการตรวจทดลองจริงพบว่า มีค่ากำลังการผลิตสูงถึง 6,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งนั่นสะท้อนว่า เหล็กเหล่านี้มีกำลังผลิตเกินหรือมีกำลังรับแรงดึงไม่ยืดหยุ่นผิดหลักทางวิศวกรรม ดังนั้น เหล็กเหล่านี้จะไม่ส่งสัญญาณของอันตรายก่อนที่โครงสร้างของอาคาร บ้านเรือนจะถล่มนั่นเอง”

 

ส่วนการร่าง มอก.1227 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ต้องมีการแก้ไขให้เป็นมาตรฐานบังคับด้วยนั้น น่าจะเกิดจากสาเหตุเดียวกัน คือ การทุ่มตลาดจากจีน เพราะเหล็กประเภทนี้ต้องใช้บิลเลตในการรีดเช่นกัน โดยมีคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 2 (กว.2)

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics