HOT

อุตฯปิโตรเคมีเล็งลงทุนกว่าแสนล้าน หลังผังเมืองมาบตาพุดเคลียร์จบ
POSTED ON 24/03/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 24 มี.ค.2559 - นสพ.ประชาชาติ รายงานข่าวในวันนี้ต่อกรณีที่ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการคลัสเตอร์ปิโตรเคมี เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังประสานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้เร่งทบทวนร่างผังเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อลดข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน รวมถึงข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถเดินหน้าขยายการลงทุนได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนเพิ่มประมาณ 2-4 แสนล้านบาท

 

ทาง กนอ.เสนอให้ขยายพื้นที่สีม่วง หรือพื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ 22,862 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ไร่ โดยขณะนี้เรื่องอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง คาดว่าจะนำเรื่องส่งมาที่ส่วนกลางได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหลังจากเรื่องพื้นที่เรียบร้อย ตามแผนงานที่ภาคเอกชนเสนอมา คาดว่าจะมีการลงทุนจริงในปี 2559 ประมาณ 1 แสนล้านบาท

 

สำหรับผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง (มาบตาพุด) ของปี 2546 นั้น กำหนดพื้นที่สีม่วงไว้ที่ 40,384 ไร่ แต่ในยกร่างครั้งที่ผ่านมาได้ปรับลดพื้นที่สีม่วงลงเหลือ 22,862 ไร่ หรือลดไป 17,522 ไร่ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวกับสีเหลืองขึ้นมาแทน นั่นเท่ากับว่าลดพื้นที่สีม่วงลงไปถึง 50% ดังนั้น จึงได้มีการขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองขยายพื้นที่สีม่วงเพิ่มเป็น 30,000 ไร่ โดยพื้นที่บริเวณใดที่กังวลให้ทำเป็นพื้นที่กันชนสีเขียวใส่เข้าไป พบกันครึ่งทาง โดยทางรัฐบาลทราบปัญหาผังเมืองเลยพยายามแก้ เพื่อให้กลุ่มนักลงทุนกลุ่มปิโตรเคมีที่พร้อมลงทุน เดินหน้าต่อไปได้

 

สำหรับกลุ่มคลัสเตอร์ปิโตรเคมีมีความชัดเจนที่จะเน้นการลงทุนปลายน้ำ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมากๆ ทำให้มีความจำเป็นต้องอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำและกลางน้ำ จึงได้กำหนดพื้นที่การลงทุนไว้บริเวณ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี

 

ส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ อาทิ คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม การไปโรดโชว์ที่ประเทศเกาหลีใต้ของทีมไทยแลนด์ ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะเป็นส่วนสำคัญของการเร่งผลักดันให้คลัสเตอร์ไฟฟ้าฯตัดสินใจลงทุนได้เร็วขึ้น

สำหรับคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน, คลัสเตอร์ดิจิทัล, มีการลงทุนต่อเนื่อง แต่อาจจะเป็นรายไม่ใหญ่มาก และรายเดิมที่ขยายกำลังการผลิตเท่านั้น ส่วนคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป, คลัสเตอร์ Food Innopolis, คลัสเตอร์ Medical Hub, คลัสเตอร์หุ่นยนต์ และคลัสเตอร์อากาศยาน ขณะนี้อาจยังไม่คึกคัก

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงพยายามทำให้เห็นภาพการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าและพยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ โดยทางด้าน กนอ.เองในบทบาทของผู้ประสานการดำเนินงาน จะสรุปแผนทุกอย่างทั้งความต้องการ อุปสรรค ลงรายละเอียดเฉพาะราย เพื่อรายงานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำกำหนดการของแผนการโรดโชว์ และบริษัทเป้าหมาย สินค้าเป้าหมายของแต่ละคลัสเตอร์

 

"ยอมรับว่าการที่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศยังไม่ตัดสินใจลงทุนในช่วงนี้ เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ถือเป็นตัวฉุดการลงทุนในทุกประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาการลงทุนอาจยังดูไม่คึกคัก ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านของเราก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุน และมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ จูงใจเช่นเดียวกับไทย ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่า การที่ประเทศไทยจะปรับเพื่อให้สิทธิประโยชน์เพิ่มกับนักลงทุนอีก อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่นักธุรกิจต้องการคือเรื่องของเสถียรภาพ ความมั่นคงต่างๆ ความต่อเนื่อง ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค ความเพียงพอของแรงงาน คุณภาพ ปริมาณ วัตถุดิบ และความสะดวกในการทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจด้วย" นายวีรพงศ์ กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics