HOT

อุตฯไฟเขียวโรงงานจำพวก 3 กว่า 2 พันโรง ปล่อยน้ำให้ภาคการเกษตรได้
POSTED ON 08/03/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 8 มี.ค.2559 - นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดดำเนินการสำรวจโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดบ้าง พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรม และหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนให้ครอบคลุมที่สุด

 

โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. ถึง 30 มิ.ย.2559 ซึ่งอนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารจำนวน 2,300 แห่ง ที่ห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงานให้สามารถนำน้ำทิ้งโรงงานระบายให้แก่เกษตรกรได้ แต่ต้องเป็นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐาน และมีคุณภาพในระดับที่สามารถนำไปใช้ในภาคการเกษตรได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรได้เกือบ 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 139,797 โรง เงินทุนรวม 6.73 ล้านล้านบาท คนงาน 3.98 ล้านคน แบ่งเป็นโรงงานที่มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งมีจำนวน 1,131 โรงงาน

 

นางอรรชกากล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีโรงงานที่ปิดตัวลงเนื่องจากปัญ หาการขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิต แต่อาจได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีผล ผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบลดลง หรือมีคุณภาพไม่คงที่ และมีราคาสูงขึ้น

 

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากอื่นๆ ได้มีการเตรียม การรองรับวิกฤติดังกล่าว เช่นการปรับแผนหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เนื่องจากได้รับทราบแนวโน้มการเกิดปัญหาภัยแล้งล่วงหน้าเป็นเวลานาน

 

ด้าน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอยู่ในโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีการใช้น้ำมาก และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำจำนวน 3,616 โรงงาน เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม

 

ส่วนโรงงานที่ใช้น้ำมากสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ จำนวน 1,131 โรงงาน ซึ่งจะต้องปรับการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดย กรอ.ได้มีมาตรการระยะสั้น เกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม และการขอความร่วมมือให้ใช้น้ำบาดาลสำหรับพื้นที่ที่ยังมีน้ำใต้ดินคุณภาพดีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ แต่ต้องขออนุญาตก่อน

 

ขณะที่มาตรการระยะยาวนั้น กรอ.ได้วางแผนให้โรงงานที่มีพื้นที่มาก พิจารณาขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำฝนในช่วงฤดูฝน และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำน้ำทะเลหรือน้ำทิ้งมาผลิตเป็นน้ำใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้น

 

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. เพื่อเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งของภาคอุตสาหกรรมสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคใต้ ภาคเหนือ และอื่นๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมติดตามสถานการณ์ในทุกๆ ด้าน ทั้งข่าวสารปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำจากกรมชลประทาน ข้อมูลปริมาณน้ำฝนและการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการเฝ้าระวังเป็นประจำทุกวันอีกด้วย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics