HOT

สั่งปิดโรงงานทันทีทำไม่ได้ เพราะกฎหมายอุตฯและประมงไม่สอดคล้อง
POSTED ON 17/02/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 17 ก.พ.2559 - นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing - IUU) โดยเฉพาะการใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายนั้น ทางรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมงปี 2558 เพื่อให้อำนาจกรมประมงในการตรวจสอบโรงงานที่ประกอบกิจการสัตว์น้ำ และหากพบการกระทำผิด ก็สามารถส่งเรื่องมาให้กระทรวงอุตสาหกรรมใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ปี 2535 ดำเนินการสั่งปิดโรงงานได้ทันที

 

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถสั่งปิดโรงงานได้ทันทีตามที่ระบุไว้ เนื่องจากการปิดโรงงานตาม พ.ร.บ. โรงงานฯนั้นมีหลายขั้นตอน หากพบว่ากระทำผิดจะต้องตักเตือน สั่งปรับปรุงโรงงาน หากไม่ปฏิบัติตามก็จะลงโทษโดยการสั่งพักใบอนุญาตชั่วคราว ไปจนถึงการปิดโรงงาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ทั้งนี้ กฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะเน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีข้อกำหนดในเรื่องของแรงงาน ซึ่งขัดกับกฎหมายของกรมประมง จึงทำให้ไม่สามารถสั่งปิดโรงงานที่กระทำผิดได้ในทันที

 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเห็นควรให้ทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นว่า หากต้องการปิดโรงงานที่ทำผิดด้วยข้อหาใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ควรใช้ พ.ร.ก.ประมงฯฉบับเดียว โดยอาจต้องปรับปรุง พ.ร.ก.ประมง ให้มีอำนาจสั่งปิดโรงงานได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการใช้ พ.ร.บ.โรงงานฯ ซึ่งจะทำให้ดำเนินการได้รวดเร็ว และตรงกับข้อกำหนดของไอยูยู

 

"การดำเนินงานในขณะนี้ไม่สามารถเอาผิดกับโรงงานที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้รวดเร็ว เพราะกฎหมายของทั้ง 2 กระทรวงฯมีความแตกต่างกัน ดังนั้น หากแก้ไข พ.ร.ก.ให้กรมประมงมีอำนาจเต็มที่ สามารถสั่งปิดโรงงานที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายได้ทันที ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาคล่องตัวและทำให้ประเทศไทยหลุดจากใบเหลืองของไอยูยูได้รวดเร็วยิ่งขึ้น" นายศักดา กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics