HOT

ราคาน้ำมันร่วง ทำคนงานปิโตรเลียมตกงานแล้วกว่า 6,000 คน
POSTED ON 03/02/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 3 ก.พ.2559 - นายสุริยันต์ อภิรักษ์สัตยากุล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นมา จนกระทั่งราคาน้ำมันดิบล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้มีผู้ประกอบการบางส่วนเลื่อนและลดการขุดเจาะผลิตน้ำมันลง เนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จนถึงขณะนี้มีแท่นขุดเจาะน้ำมันที่หยุดกิจการชั่วคราวแล้ว 2 แท่น ได้แก่ แท่นสงขลา C และ G กำลังการผลิตรวม 2,600 บาร์เรลต่อวันของคอสตอล เอเนอร์จี (Coastal Energy) และมี 2 แท่นบริการสำรวจและผลิตถอนแท่นออกจากไทยไปแล้วจากทั้งหมด 10 แท่น ทำให้พนักงานในธุรกิจดังกล่าวตกงานแล้วมากกว่า 6,000 คน

 

"ขณะนี้ทางกรมฯกำลังติดตามสถานการณ์ทั้งหมด โดยคาดว่ากิจกรรมต่างๆ จะกลับมาเดินเครื่องการผลิตอีกครั้งเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จนกว่าระดับราคาจะคุ้มค่าแก่การลงทุน" นายสุริยันต์ กล่าว

 

โดยในวันนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียม ตามร่างกฎกระทรวง กำหนดแผนงานประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. … ออกตามความในมาตรา 80/1 และ 80/2 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2550 รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แผนงานกิจกรรมการรื้อถอน และข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับทางเลือกวิธีการรื้อถอน และเทคโนโลยีสำหรับใช้ในการรื้อถอนติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม แท่นผลิตกลาง แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน เรือกักเก็บปิโตรเลียม ท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติได้จริง

 

ทั้งนี้ ประกอบด้วย แท่นหลุมผลิต แท่นที่พักอาศัย โดยแท่นในไทยนั้นมีแท่นในอ่าวไทยประมาณ 435 แท่น และแท่นบนบกประมาณ 100 แท่น คาดใช้งบในการรื้อถอนหลักประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะจัดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มเติม คาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ทั้งหมดภายใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะสอดคล้องกับสัญญาสัมปทานของเชฟรอน (Chevron) และแหล่งบงกชของ ปตท.สผ.ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566

 

"เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องทำการรื้อถอนสิ่งติดตั้งใน 3 กรณี ได้แก่ (1) ผู้ที่หยุดการผลิตปิโตรเลียมเป็นระยะเวลา 1 ปี หากไม่มีแผนงานลงทุนชัดเจนต่อเนื่องก็ต้องทำแผนรื้อถอน (2) ผู้ที่มีปริมาณปิโตรเลียมสำรองเพียง 40% และ (3) ผู้ที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานภายใน 5 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องจัดทำแผนประมาณค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งเสนอมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยต้องมีการวางเงินประกันการรื้อถอนให้ทางกรมฯไว้ 100% หลังจากนั้นกรมฯจะส่งต่อให้คณะกรรมการปิโตรเลียมทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่พิจารณาตามลำดับขั้น จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมอื่นๆ" นายสุริยันต์ กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics