HOT

เสนอใช้ ม.44 แก้ปัญหาผังเมืองรวม เคลียร์ทางให้โรงไฟฟ้าขยะ
POSTED ON 14/01/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 14 ม.ค.2559 - นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ทางกรมฯกำลังอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้า ครม.เพื่อขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ยกเว้นไม่ให้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่...

 

1. การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด 12 พื้นที่ ได้แก่ ตาก, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, สงขลา, หนองคาย, นครพนม, กาญจนบุรี, นราธิวาส และเชียงราย โดยต่อไปการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยออกตามกฎหมายควบคุมอาคารมาคุมการก่อสร้างแทน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างข้อกำหนด 2 จังหวัดที่เป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดตากกับสระแก้ว ซึ่งที่จังหวัดตากกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าจะยอมรับกับข้อกำหนดหรือไม่ ส่วนจังหวัดสระแก้วมีการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

 

2. การพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานและขยะ เปิดให้สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ โดยไม่มีกฎกระทรวงผังเมืองรวมบังคับใช้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกฎหมายอื่นประกอบด้วย เช่น กฎหมายโรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม ล่าสุดกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีข้อท้วงติงเข้ามาว่าหากยกเว้นกฎหมายผังเมืองแล้วจะใช้กฎหมายอะไรมาพิจารณาในการขออนุญาตดำเนินการ เช่น การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น

 

ในส่วนของธุรกิจด้านพลังงาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะ ได้จัดให้กฎหมายผังเมืองรวมเป็น 1 ใน 3 อุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาโรงไฟฟ้าได้ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากกฎหมายผังเมืองต่อกระทรวงพลังงานผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 153 โครงการ 875 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะที่กลุ่ม ปตท.ร่วมกับองค์การบริหารส่วน จ.ระยอง และโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

 

ส่วนแนวทางที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะเสนอให้แก้ปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอันเนื่องมาจากกฎหมายผังเมืองรวม ด้วยการใช้มาตรา 44 นั้น แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. ระบุว่า ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง แต่โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการโครงการต่อไปได้อยู่ดี เนื่องจากยังติดปัญหาใหญ่อีก 2 เรื่องที่รอการแก้ไข นั่นก็คือ ระบบสายส่งไฟฟ้าไม่พอ กับ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ที่กำหนดให้ขยะเป็นทรัพย์สินของรัฐ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าขยะต้องเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำโรงไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ เพราะติดปัญหาการพิจารณาที่ล่าช้า

 

ล่าสุด คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ได้หารือปัญหาอันเกี่ยวเนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โดยภาคเอกชนเสนอให้นำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนออกจาก พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตที่ต้องใช้เวลานานแต่ละโครงการไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี

 

ด้าน นายจารุวัฒน์ สิงห์สมดี ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. กล่าวภายหลังการประชุมว่า "ที่ประชุมยังไม่สามารถสรุปแนวทางแก้ไขได้ ซึ่งในการหารือนั้นเอกชนต้องการให้พลังงานทดแทนทุกประเภทไม่เข้าข่ายที่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะของบริษัทฯเองใน จ.ระยอง กำลังผลิตประมาณ 8 เมกะวัตต์ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ต้องตีความเพิ่มเติม โดยอาจต้องคำนวณมูลค่าของโครงการใหม่ จากเดิมที่เคยคำนวณไว้ที่ 1,000 ล้านบาท"

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics