HOT

กมอ.ผ่านร่าง มอก.เหล็กเส้น เตรียมประกาศใช้ต้นปีหน้า
POSTED ON 28/12/2558


ข่าวอุตสาหกรรม 28 ธ.ค.2558 - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวในวันนี้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เห็นชอบร่างประกาศแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มอก.20-2543 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กเส้นกลม และ มอก.24-2548 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย เป็นที่เรียบร้อย โดยจะกำหนดกรอบแนวทางเพื่อควบคุมและกำกับ โดยจะเปิดทำประชาพิจารณ์ภายในเวลา 30 วัน และเข้าสู่ขั้นตอนกฤษฎีกา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ มอก.20 และ มอก.24 ได้ประมาณไตรมาส 1 ปี 2559

 

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมาว่า "ร่างประกาศดังกล่าวถือเป็นมาตรฐานสากลที่ผู้ผลิตในประเทศจะถูกควบคุมกระบวนการผลิตภายใต้มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งการประชาพิจารณ์หากมีผู้คัดค้านในสาระสำคัญ จะต้องนำกลับเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 (กว.9)"

 

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมที่จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรม สอดรับกับนโยบายรัฐที่ต้องการผลักดันสินค้าในประเทศสู่การพัฒนา มีมาตรฐานสากลชัดเจน แข่งขันกับเพื่อนบ้านได้

 

ภายใต้ร่างประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรรมวิธีในการผลิตหรือประเภทของเตา แต่ได้กำหนดสาระสำคัญไว้ดังนี้

 

"การผลิตเหล็กเส้น สามารถใช้เตาหลอมอิเล็กทริก อาร์ก เฟอร์เนซ (Electric Arc furnace) และ เตาหลอมอินดักชั่น เฟอร์เนซ ได้ (Induction furnace) โดยเตาจะต้องมีขนาด 5,000 กิโลกรัม และต้องผลิตเหล็กเส้นต่อเนื่องได้ปริมาณ 10,000 กิโลกรัม  หรือ 10 ตันต่อชั่วโมง เมื่อผลิตเหล็กเส้นได้แล้วจะต้องพิมพ์ตัวนูน ซึ่งเป็นตัวย่อของชนิดเตาที่ผลิต กำกับไว้ที่ตัวสินค้า เช่น เหล็กเส้นที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น เฟอร์เนซ ใช้ตัวนูน IF, เหล็กเส้นที่ผลิตจากเตาหลอมอิเล็กทริก อาร์ก เฟอร์เนซ ใช้ตัวนูน EF และภายใต้การหลอมจากเตาหลอมอิเล็กทริก อาร์ก เฟอร์เนซ นั้น หากใช้การหลอมแบบโอเพ่นฮาร์ท จะใช้ตัวนูน OH และหากใช้การหลอมแบบเบสิกออกซิเจน จะใช้ตัวนูน BO"

 

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ความกังวลถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ (บิลเลต) ที่จะใช้ในการหลอมเหล็กจากเตาอินดักชั่น เฟอร์เนซ นั้น ทาง สมอ.ได้ออกมาตรการควบคุมแบบเคร่งครัด อย่างปริมาณของการมีกำมะถัน เพื่อป้องกันไม่ใช้นำเศษเหล็กมาเป็นวัตถุดิบ อีกทั้งยังได้กำหนดส่วนผสมทางเคมีของเหล็กที่จะต้องมีส่วนผสมดังนี้

 

- อะลูมิเนียม ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป - โมลิบดีนัม ร้อยละ 0.08 ขึ้นไป - โบรอน ร้อยละ 0.0008 ขึ้นไป - นิกเกิล ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป - โครเมียม ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป - ไนโอเบียม ร้อยละ 0.06 ขึ้นไป - โคบอลต์ ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป - ซิลิคอน ร้อยละ 0.6 ขึ้นไป - ทองแดง ร้อยละ 0.4 ขึ้นไป - ไทเทเนียม ร้อยละ 0.05 ขึ้นไป - ตะกั่ว ร้อยละ 0.4 ขึ้นไป - ทังสเตน (วุลแฟรม) ร้อยละ 0.3 ขึ้นไป - แมงกานีส ร้อยละ 1.65 ขึ้นไป - วาเนเดียม ร้อยละ 0.1 ขึ้นไป - เซอร์โคเนียม ร้อยละ 0.05 ขึ้นไป

 

ซึ่งเป็นไปตามนิยามอัลลอยด์สตีล จากเดิมเกณฑ์กำหนดธาตุในเหล็กมีเพียง 5 ธาตุเท่านั้น คือ โบรอน, โครเมียม, นิกเกิล, ซิลิคอน และทองแดง ทั้งนี้ การกำหนดธาตุเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO และเนื่องจากเหล็กนำเข้าจากจีนเปลี่ยนสารผสมใหม่ในเหล็กเส้นจากโบรอนเป็นโครเมียม ซึ่งมีความแข็งกว่าเดิม แต่เปราะเสี่ยงต่อโครงสร้างอาคารและผู้บริโภค

 

"สินค้าเหล็กทุกประเภทจากนี้จะต้องมีมาตรฐานเดียวกับที่ สมอ.กำหนดออกมา และถูกควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามสากล เข้าพิกัดศุลกากรอย่างถูกต้อง ดังนั้น กรณีปัญหาการนำเข้าเหล็กจีนและบริษัทที่ขอนำเข้าเหล็กรายเดิมตามประกาศเก่านั้นจะต้องถูกยกเลิกและยื่นขออนุญาตนำเข้าเหล็กใหม่ เมื่อประกาศ มอก.ตัวใหม่บังคับใช้ ใบอนุญาตเดิมทั้งหมดจะหมดสิทธิ์ และต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าเหล็กตามใหม่" นายธวัช กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics