HOT

อุตฯปิโตรเคมี เสนอรัฐสางปัญหาผังเมืองมาบตาพุด หวั่นลงทุนสะดุด
POSTED ON 04/11/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวในวันนี้ว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุน โดยกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้เข้าพบและเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเทศบาลมาบตาพุดให้มีความชัดเจนโดยเร็ว หลังจากที่หมดอายุมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งทางเทศบาลมาบตาพุดได้พยายามแก้ไขปรับปรุงและนำร่างเสนอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาไปแล้ว เพื่อลดขนาดของพื้นที่สีม่วงลงจากเดิม 40,000 ไร่ เหลือเพียง 22,000 ไร่ แต่เนื่องจากยังมีข้อขัดแย้งระหว่างภาครัฐและเอกชนอยู่ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงส่งเรื่องให้เทศบาลมาบตาพุดดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใหม่ ส่งผลให้ไม่มีความชัดเจนของผังเมืองที่จะออกมาในขณะนี้

 

นายเอกรัตน์ ทองธวัช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า "จากความไม่แน่นอนของผังเมือง ส่งผลให้นักลงทุนทั้งเก่าและใหม่ไม่สามารถตัดสินใจเดินหน้าลงทุนต่อไปได้ แม้ว่าจะมีความสนใจเข้ามาลงทุนและขยายกิจการจำนวนมากเพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ปิโตรเคมีในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพราะเห็นว่ามีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า น้ำดิบ ท่าเรือน้ำลึก รวมถึงมีการจัดซื้อที่ดิน และลงทุนในแครกเกอร์ไปบางส่วนแล้วสำหรับรองรับการขยายงาน แต่หากไม่มีการขยายพื้นที่สีม่วงหรือปรับผังเมืองใหม่ก็จะส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปแล้วไม่คุ้มค่า และอาจทำให้การลงทุนต้องสะดุดลง"

 

"อีกทั้งโครงการขยายท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ในพื้นที่ราว 1,000 ไร่ จะไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากในร่างผังเมืองดังกล่าวได้กำหนดให้พื้นที่ในทะเลเป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองให้เป็นที่อนุรักษ์ไว้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น หากต้องไปใช้ท่าเรือที่อื่นแทน เพราะปัจจุบันความสามารถในการรองรับขนส่งสินค้าของท่าเรือทั้ง 2 ท่าของมาบตาพุดใกล้เต็มแล้ว ดังนั้น หากปัญหาการร่างผังเมืองยังไม่ได้รับการแก้ไขและไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ จะทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นและจะส่งผลต่อนโยบายการส่งเสริมคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ทำให้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้" นายเอกรัตน์ กล่าว

 

ด้าน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ในระหว่างที่รัฐบาลจะลงมาดูแลแก้ไขและปรับปรุงผังเมืองของมาบตาพุด ในส่วนของการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีนั้นภาคเอกชนได้เสนอไปยังนายสมคิดว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การทบทวนกฎหมายและข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในพื้นที่ โดยให้มีส่วนร่วมจากภาคเอกชน เป็นต้น

 

"พร้อมกันนี้ควรจะทบทวนเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับกิจการปิโตรเคมี และยืดระยะเวลาในการได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนออกไป เนื่องจากบีโอไอกำหนดให้โครงการใหม่จะต้องลงทุนหรือเปิดกิจการให้ได้ภายในปี 2560 ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด แต่การแก้ไขผังเมืองใหม่ยังไม่ชัดเจน และไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน จึงทำให้อาจเป็นปัญหาต่อการตัดสินใจของภาคเอกชนได้" นายศิริ ระบุ

 

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า "ในส่วนของการขยายโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมองว่ายังมีระยะเวลาเพียงพอที่จะรอการแก้ไขผังเมืองมาบตาพุดได้ แต่หากทางเทศบาลมาบตาพุดยังยืนยันที่จะคงร่างผังเมืองเดิม ก็จะกระทบต่อการก่อสร้างท่าเรือ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ และจะกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางเรือที่มีความแออัดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการจัดหาสถานที่ตั้งใหม่นั้นทาง กนอ.ยังไม่ได้พิจารณา เพราะหวังว่าการแก้ไขผังเมืองใหม่น่าจะได้ข้อยุติไปในทางที่ดี"

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics