HOT

เสนอ ครม.แก้ปัญหาผังเมือง ลดความขัดแย้งในการตั้งโรงงานกับชุมชน
POSTED ON 02/11/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ไทยรัฐ รายงานข่าวต่อกรณีที่นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมว่า คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ได้สั่งการให้ กรอ. กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง หารือแนวทางการดำเนินงานและร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมี 6 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์, กระบี่, ชลบุรี, ระยอง และนครปฐม

 

กรอ.จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ประกอบพิจารณาแก้ไขผังเมืองขึ้นมา 4 ข้อ เพื่อเสนอ ครม.ให้พิจารณาเห็นชอบสำหรับนำมาใช้เป็นแนวทางในการประกอบจัดทำผังเมืองในแต่ละจังหวัด เพื่อลดปัญหาของเขตการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน โดยทั้ง 4 ข้อหลักๆ ประกอบด้วย

 

1. ยกเลิกบัญชีกำหนดประเภท (บัญชีแนบท้าย) จำพวกโรงงาน ท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมือง และจัดทำข้อกำหนดที่มีลักษณะยืดหยุ่น สามารถรองรับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้ รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่จำเป็นต้องมีแผนไว้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดย กรอ.ได้แก้ไขประกาศบัญชีแนบท้ายจากเดิมที่ระบุว่า ตั้งโรงงานอะไรบ้าง ประเภทใดบ้าง ก็จะเปลี่ยนเป็นไม่ให้ตั้งโรงงานอะไรบ้าง ประเภทใดบ้าง ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เปิดกว้างในการตั้งโรงงานมากขึ้น และระบุประเภทโรงงานให้ชัดเจนมากกว่าเดิม

 

2. กอช.ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยนำผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการลงทุนของกระทรวงอุตสาหกรรมไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัด เมือง และชุมชน

 

3. กอช.ยังมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน จัดทำหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวกันชนและแนวป้องกันที่เหมาะสมกับโรงงานประเภทต่างๆ รวมทั้งจัดทำโซนนิ่งอุตสาหกรรม โดยจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ในเบื้องต้น 15 จังหวัดจะทำการจัดโซนนิ่งก่อน เช่น สมุทรปราการ, ระยอง, ปราจีนบุรี, นครปฐม, เชียงใหม่, นครราชสีมา เป็นต้น และได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ในการวางและจัดทำผังเมือง

 

4. กำหนดให้การทำผังเมืองต้องสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น กรณีรัฐบาลมีนโยบายกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่ ควรมีการกำหนดพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย และให้กระทรวงมหาดไทยไปวางและจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค รองรับการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรในแต่ละจังหวัด

 

สำหรับสถิติการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและขยายกิจการโรงาน (รง.4) ในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.2558) มีจำนวนทั้งสิ้น 4,401 โรงงาน มูลค่าเงินลงทุน 477,000 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เงินลงทุน 56,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เงินลงทุน 35,000 ล้านบาท ยานพาหนะการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ เงินลงทุน 34,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เงินลงทุน 24,000 ล้านบาท และ ผลิตภัณฑ์โลหะ เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics