HOT

อุตฯเตือนโรงงานภาคเหนือ-กลาง-อีสาน เตรียมรับมือภัยแล้งปีหน้า
POSTED ON 14/12/2558


ข่าวอุตสาหกรรม 14 ธ.ค.2558 - นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลกับกรมชลประทานเพื่อประเมินความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมกับการเตรียมตัวรับมือปัญหาภัยแล้งในปี 2559 พบว่า ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ มีปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมาก ประเมินว่าไม่น่ามีปัญหา แต่ในส่วนของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาภัยแล้งปีหน้า เหตุจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อยกว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

 

การที่ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย ทำให้การปล่อยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนมีปริมาณน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำในแม่น้ำ แม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะระบายน้ำทิ้งเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่หากระบายน้ำทิ้งลงแม่น้ำในปริมาณมากๆ ก็อาจเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำได้ จึงต้องวางมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า และจากการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานจะให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อชุมชน เกษตรกรรม และท่องเที่ยว ส่วนอุตสาหกรรมจะเป็นลำดับสุดท้าย ดังนั้น จึงต้องเตรียมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาน้ำเสียในฤดูแล้งอีกด้วย

 

นายอาทิตย์ กล่าวว่า "กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งมีประมาณ 300 โรงงาน ภายในเดือน ธ.ค.2558 นี้ และจะขอความร่วมมือให้ตรวจสอบค่าปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (DO) ของน้ำทิ้งที่จะระบายออกนอกโรงงานให้มีค่า DO มากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่น้ำ ส่วนอุตสาหกรรมจังหวัดจะให้ส่งหนังสือแจ้งเตือนและขอความร่วมมือไปยังโรงงานต่างๆ ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานเป็นพิเศษในปีหน้าอีกด้วย"

 

นอกจากนี้ กรอ.จะส่งเสริมให้โรงงานมีการใช้น้ำด้วยหลักการ 3Rs คือ ลดการใช้, ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับจัดทำเอกสารเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ด้านเทคนิคหรือวิธีการลดการใช้น้ำของโรงงานผ่านทางเว็บไซต์ของ กรอ. (www.diw.go.th) ส่วนโรงงานที่มีพื้นที่มากแนะนำให้ขุดบ่อพักน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล

 

ขณะที่ทางด้านกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในปีหน้าโดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาขุมเหมืองเก่า ซึ่งได้มีการเก็บกักน้ำเอาไว้ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นประสานเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น เพื่อการเกษตรกรรม อุปโภคและบริโภค รวมจำนวน 9 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 27.4 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น สระบุรี และตาก โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics