HOT

ผู้ผลิตเหล็กในประเทศโวย สมอ. ปล่อยนำเข้าเหล็กจีนระหว่างแก้เรื่องมาตรฐาน
POSTED ON 15/10/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - กลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการผลิตสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตไทยกว่า 30 บริษัท เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งดำเนินการป้องกันการนำเข้าเหล็กเส้นอย่างไม่เป็นธรรมจากประเทศจีน

 

ทางตัวแทนผู้ประกอบการเหล็ก เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือมาแล้วเมื่อเดือน ก.ย.2557 และ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีต รมว.อุตสาหกรรม เคยสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้น โดยกำหนดค่าส่วนประกอบทางเคมีเพิ่มเติมเป็นกรณีเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.2558 แต่เมื่อ นางอรรชกา สีบุญเรือง มาเป็น รมว.อุตสาหกรรม และก่อนที่เลขาธิการ สมอ.จะเกษียณราชการเมื่อเดือน ก.ย.2558 ที่ผ่านมา กลับพบว่าทาง สมอ.มีการลงนามอนุญาตให้ผู้ประกอบการในบางบริษัทสามารถนำเหล็กเส้นฯจากจีนเข้ามาได้ ในระหว่างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าว

 

หนังสือร้องเรียน ระบุว่า "จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างภายในของประเทศซึ่งอยู่ในภาวะล้นตลาด เนื่องจากมีกำลังการผลิตเหล็กเส้นที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก.รวมกันอยู่ถึง 7 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการภายในประเทศมีเพียง 2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น"

 

ดังนั้น ทางกลุ่มผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจึงได้รวมตัวยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอปกป้องและให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กเส้นอย่างเร่งด่วน โดยกำหนดมาตรการในลักษณะเดียวกับประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ด้วยการไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นเจือโบรอนหรืออัลลอยด์ใดๆ ตลอดจนระงับการออกใบอนุญาต การนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ สมอ.ได้ดำเนินการออกไปแล้ว

 

โดยตัวแทนผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้น ระบุว่า ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ ที่ทาง สมอ.จะออกใบอนุญาตเพิ่มเติมให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นเพื่อทำลายอุตสาหกรรมภายในประเทศ และยังถือว่าการนำเข้าไม่มีความเป็นธรรมทางการค้าอีกด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากจีนมีราคาต่ำผิดปกติที่ประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมองว่าที่ราคาอาจจะต่ำกว่าต้นทุนอาจเกิดจากผู้ผลิตจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในการส่งออก ด้วยการคืนภาษี 13% และผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นการช่วยเหลือดำเนินกิจการ ทำให้สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนผลิตสินค้า

 

หากไม่มีการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศและปล่อยให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นอย่างไม่เป็นธรรม จะทำให้ไทยเปลี่ยนสภาพจากผู้ผลิตกลายเป็นผู้นำเข้าแทน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าปีละ 35,000 ล้านบาท และจะมีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรนำเข้า โดยการสำแดงพิกัดเป็นเหล็กเส้นเจืออัลลอยด์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอีก 5% นั่นจะทำให้ประเทศเสียรายได้อีกไม่ต่ำกว่าปีละ 1,800 ล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงการสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทเหล็กที่ต้องปิดกิจการ และสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา จากการถูกเลิกจ้างงานกว่า 25,000 คน นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มจัดหาเศษเหล็ก วัตถุดิบ และผู้ให้บริการอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งหากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเหล็กเส้นภายในประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนใบอนุญาตนำเข้าเหล็กเส้นของผู้นำเข้าที่ได้ออกใบอนุญาตไปแล้ว และอยากให้มีการระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าเพิ่มเติม และเร่งรัดการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในเรื่องส่วนประกอบทางเคมี รวมถึงอยากให้มีการทบทวนขั้นตอนการออกใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ โดยควรกำหนดให้ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาตและใบอนุญาตควรจะมีการกำหนดวันหมดอายุให้เป็นแบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics