HOT

เร่งดันแล็บยางในไทยสู่มาตรฐาน ISO/IEC17025 หวังช่วยหนุนส่งออก
POSTED ON 29/09/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายพนัส แพชนะ ผู้อำนวยการกองการยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กองการยางได้เร่งปรับโครงสร้างและเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมและกำกับการผลิต การค้า การส่งออก และนำเข้ายางพาราตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยาง ทั้งยังทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยางเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานควบคุมยางตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 พร้อมศึกษา สำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ และตรวจสอบด้านการผลิต การค้า การส่งออกและนำเข้ายาง ขณะเดียวกันยังให้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่ง และให้บริการตรวจวิเคราะห์และออกใบรับรองคุณภาพยาง ตลอดจนให้บริการวิชาการและเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

 

นอกจากปรับโครงสร้างบุคลากรแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังได้มอบหมายให้กองการยางเร่งพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งของกองการยาง ซึ่งปัจจุบันมี 4 แห่ง ได้แก่ (1) ห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งของกลุ่มพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานยาง, (2) ศูนย์ควบคุมยางสงขลา, (3) ศูนย์ควบคุมยางฉะเชิงเทรา และ (4) ศูนย์ควบคุมบางหนองคาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพยางแท่งเอสทีอาร์ (STR) ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มความคล่องตัวในการส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์ของไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้ยางแท่งเอสทีอาร์มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์

 

"ปัจจุบันห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งทั้ง 4 แห่งของกองการยางสามารถตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้ายางแท่งเอสทีอาร์ได้วันประมาณ 25 ล็อต หรือ 450 ตัวอย่างต่อวัน คิดเป็นน้ำหนักยางแท่งที่ส่งออกประมาณ 157.5 ตัน โดยสามารถทดสอบสมบัติยางแท่งเอสทีอาร์ตามมาตรฐาน อาทิ การทดสอบปริมาณสิ่งสกปรก ปริมาณเถ้า ปริมาณไนโตรเจน ปริมาณสิ่งระเหย ดัชนีความอ่อนตัว การทดสอบสี และความหนืด เป็นต้น คิดอัตราค่าทดสอบล็อตละ 1,800-1,900 บาท อนาคตหากมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่เพิ่มเติม คาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการทดสอบและรองรับตัวอย่างต่อวันได้มากขึ้น และให้บริการผู้ประกอบการที่จะส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์ได้ครอบคลุมทั่วถึงด้วย" นายพนัส กล่าว

 

ทั้งนี้ กองการยางมีห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 แล้ว 1 แห่ง คือ ห้องปฏิบัติการทอสอบยางแท่งของกลุ่มพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานยาง อนาคตได้มีแผนเร่งพัฒนายกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งของ 3 ศูนย์ฯ เข้าสู่มาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้วย อีกทั้งยังมีแผนเร่งผลักดันห้องปฏิบัติการทดลองยางแท่งของโรงงานผลิตยางแท่งที่มี 79 แห่ง ให้สามารถทดสอบและรับรองคุณภาพยางแท่งได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่งของภาคเอกชนที่รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว 53 แห่ง เพื่อช่วยสนับสนุนและเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าและส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์สู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

 

สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีสัดส่วน 44.07% ของการส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์ทั่วโลก ซึ่งปี 2557 ประเทศไทยปริมาณการส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์รวม 1,574,605 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 94,301.47 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการใช้ยางแท่งภายในประเทศประมาณ 189,232 ตัน และตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.2558 ไทยมีการส่งออกยางแท่งแล้วกว่า 1,036,812.69 ตัน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 52,426.24 ล้านบาท

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics