HOT

กรมเชื้อเพลิงฯ มั่นใจ สิ้นปีนี้เปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 ได้
POSTED ON 30/09/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ไทยโพสต์ รายงานข่าวในวันนี้ (30 ก.ย.2558) ว่า นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่ได้รายงานให้กับ พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงพลังงาน และ พล.อ.อนันตพร กาญจรัตน์ รมว.พลังงาน รับทราบแล้ว และอยู่ระหว่างรอจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

 

"คาดว่าหลังผ่านกระบวนการนี้จะสามารถประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้จำนวน 29 แปลง ภายในสิ้นปี 2558 นี้ โดยจะเปิดกว้างให้เอกชนเสนอรูปแบบการสำรวจและผลิตว่า จะใช้ระบบใดระหว่างสัมปทาน หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และเชื่อมั่นว่าหากเปิดให้สำรวจฯ เอกชนยังสนใจที่จะลงทุน แม้ว่าราคาน้ำมันดิบขณะนี้จะตกต่ำ แต่ก็เป็นโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาดำเนินการ แม้ว่าจะมีการเลื่อนการเปิดสำรวจรอบที่ 21 มาแล้วก็ตาม" นางพวงทิพย์ กล่าว

 

นางพวงทิพย์ ยังกล่าวด้วยว่า "สิ่งนี้ก็ทำให้ไทยเสียโอกาสในการลงทุน ซึ่งการที่ไทยไม่มีการเปิดสำรวจที่ต่อเนื่องทำให้บริษัทที่เกี่ยวกับการบริการในธุรกิจสำรวจและผลิต เช่น การสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Exploration) ธุรกิจแท่นผลิตและอุปกรณ์ ฯลฯ ได้รับผลกระทบมีการเลิกจ้างไปกว่า 1,000 คน เช่น CGG ซึ่งทำธุรกิจ Seismic อาจย้ายฐานไปยังเมียนมาร์แทน และล่าสุด บ.ไทยนิปปอน สตีล ที่ปิดแท่นฯไปแล้ว 1 แห่ง ดังนั้น หากไทยเปิดสำรวจได้เร็วก็จะทำ ให้เป็นโอกาสการลงทุนและการจ้างงาน"

 

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐควรเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบ คือ ความชัดเจนของแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณ ซึ่งบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ และแหล่งบงกช ที่ดำเนินการโดย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้การผลิตเกิดความต่อเนื่อง เพราะ 2 แหล่งนี้สำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

 

"รัฐบาลได้วางกรอบให้สรุปภายใน 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.2558 ถึง 13 พ.ค.2559 ซึ่งภายใน ต.ค.2558 นี้ บริษัท IHS ที่กรมฯว่าจ้างให้ศึกษาและประเมินปริมาณสำรองของ 2 แหล่งจะสรุปผล พร้อมนำไปเทียบกับข้อมูลของ 2 บริษัท รวมถึงจะมีการประเมินทรัพย์สินควบคู่กันไป เพื่อที่จะกำหนดแนวทางการบริหารจัดการว่าจะใช้รูปแบบใด ซึ่งมีทั้งระบบสัมปทาน ระบบ PSC และการรับจ้างผลิต" นางพวงทิพย์ กล่าว

 

ด้าน นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลนี้มีความชัดเจนค่อนข้างมากเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม อย่างกรณีพื้นที่ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชาเอง ก็ไม่มีการยกเลิกการลงนาม (MOU) ปี 2524 ทำให้คืบหน้าเกี่ยวกับความชัดเจน และทำให้สามารถดำเนินการเจรจารายละเอียดต่อไป ซึ่งก็มีการเจรจากันอยู่"

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics