HOT

สนพ. และ กฟผ. เห็นพ้องจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
POSTED ON 23/09/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในงานเสวนา "คนไทยกลัวอะไร ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน" ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยยืนยันว่าใช้เทคโนโลยีสะอาดลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และเป็นพื้นที่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยว เป็นการกระจายเชื้อเพลิงและต้นทุนต่ำ เกิดความมั่นคง โดยไฟฟ้าเป็นเรื่องสนับสนุนเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยว เพราะหากไฟฟ้าเพียงพอก็ทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบาย โดยแผนพลังงานของประเทศนั้นคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อนและพลังงานทดแทน

 

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า "ภาพที่ทำให้คนกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสิ่งที่มีใครทำให้คนไทยกลัว เพราะบางภาพเป็นเรื่องบิดเบือน ที่จะเห็นได้จากภาพรณรงค์โยงรูปเรือถ่านหินกับการท่องเที่ยวในภาคใต้ ทั้งที่เรือถ่านหินเป็นระบบปิด และตัวเลขไฟฟ้า คือ หากไฟตกไฟดับ 1 หน่วยกระทบต่อเศรษฐกิจ 80 บาท จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้เพียงพอ"

 

ด้าน นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวเสริมว่า "อยากให้คนไทยเปิดใจกว้างเอาข้อมูลอดีตมาคิดวิเคราะห์และมองในอนาคต ซึ่งในภาคใต้ไฟฟ้าปัจจุบันกำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากปี 2562-2563 ไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เลย จะเกิดปัญหาด้านคุณภาพไฟฟ้า ต้นทุนแพงขึ้น และหาก 20 ปีไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เลยจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่ภาคใต้อยากจะส่งเสริมการท่องเที่ยวจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีโรงไฟฟ้าให้เพียงพอเพราะจากตัวเลขสถิติการใช้ไฟฟ้า นักท่องเที่ยว 1 คนใช้ไฟฟ้ามากกว่า คนท้องถิ่น 4 คน"

 

ขณะที่ทางด้าน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า "ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่นเรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการไม่เชื่อในคน ซึ่งเริ่มจากปัญหาต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก ทำอย่างไรให้เกิดข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลควรจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการยอมรับในข้อมูลเดียวกัน ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังปะการังของประเทศเหลือร้อยละ 21 ซึ่งแม้จะไม่เกิดจากโรงไฟฟ้า แต่ต้องดูแลระมัดระวังให้รอบคอบอยากเห็น 2 ฝ่ายร่วมมือกัน อย่าทำตามแค่อีไอเอแต่ให้เกินมาตรฐาน EIA เพื่อรักษากระบี่รักษาปะการังทำให้"

 

ด้าน นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพราะเกรงจะกระทบต่อภาวะโลกร้อนที่นักท่องเที่ยวให้ความใส่ใจ และกระทบต่อการท่องเที่ยวในที่สุด รวมทั้งเกรงเรื่องผลกระทบต่อปะการังจากการขนส่งถ่านหิน โดยจังหวัดกระบี่มีการใช้ไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์ มีโรงงานปาล์ม 30 โรง หากส่งเสริมให้ใช้พลังงานชีวมวลทดแทนในกระบี่ก็เพียงพอแล้ว

 

ขณะที่ทางภาคประชานอย่าง นายสวาสดิ์ เถาว์กลอย กรรมการอิสลาม จังหวัดกระบี่ ระบุว่า "อยากเห็นโรงไฟฟ้ากระบี่เกิดขึ้น และรัฐบาลควรจะหาหน่วยงานหรือศูนย์กลางให้เกิดความเข้าใจทุกฝ่าย ผ่านวิกฤติความคิด โดยอยากเห็นการสร้างผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากกว่า"

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย