HOT

โรงงานยางรายใหญ่ของโลก สั่งเลิกออเดอร์ยางอีสานในไทย เหตุใช้กรดซัลฟิวริก
POSTED ON 17/09/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.มติชน รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา ต่อกรณีที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทผลิตยางรถจากต่างประเทศมีท่าทียกเลิกการสั่งซื้อยางพาราก้อนถ้วยจากภาคอีสานของไทย หลังพบว่าคุณภาพยางตกต่ำลง จากการใช้กรดซัลฟิวริกหรือกรดกำมะถัน โดยพบปริมาณของซัลเฟตในยางที่สูง จนกลายเป็นปัญหาใหม่ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมยางในภาคอีสาน นอกจากนี้ การใช้กรดดังกล่าวยังก่อมลพิษต่อสุขภาพของแรงงานตามสวนยางและสถานที่รับซื้อ รวมถึงปัญหาน้ำยางเหม็นไหลลงตามถนน จนสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ใช้รถใช้ถนนและชุมชน

 

ขณะที่บริษัท อี คิว รับเบอร์ จำกัด (E.Q.Rubber Co.,Ltd.) ผู้ส่งออกยางแท่ง ได้มีหนังสือถึงสมาคมยางพาราไทย ว่า ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ของโลก พบปัญหาในการผลิตยางล้อ จากยางก้อนถ้วยในภาคอีสาน โดยพบว่ามีระดับของซัลเฟตสูง จึงตัดสินใจจะไม่รับซื้อยางแท่งที่ผลิตจากยางก้อนถ้วยในภาคอีสานของไทย จนกว่าได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน ส.ค.2558 ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้แก้ไขปัญหาคุณภาพยางก้อนถ้วย 3 ประเด็น โดยหนึ่งในนั้นคือ การใช้กรดซัลฟิวริกให้ยางจับตัวที่เป็นวัตถุดิบผลิตยางแท่ง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพยางลดลง

 

นายพยุงศักดิ์ อภิรัตนกุล ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) อุดรธานี เปิดเผยว่า สกย.ส่งเสริมชาวสวนใช้กรดฟอร์มิค เพราะเป็นกรดอินทรีย์สลายตัวเอง จะทำให้คุณภาพยางดีไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลับพบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการบางรายผลิตกรดซัลฟิวริก ซึ่งเป็นกรดกำมะถัน ผสมน้ำแล้วบรรจุขวดขายในราคาต่ำกว่าประมาณเท่าตัว ซึ่งชาวยางนิยมใช้กันมาก เพราะราคาถูกกว่า ทั้งยังพบว่ามีการใช้กรดสู้ฝนหรือเกลือแคลเซียม ซึ่งเป็นกรด 2 ชนิดหลัง ที่ทำให้คุณภาพยางลดลงจริง

 

"สกย.ทำได้เพียงการส่งเสริมและรณรงค์ให้ชาวสวนยางตระหนักถึงความสำคัญเรื่องคุณภาพ แต่หากจะให้ สกย.ไปบังคับห้ามใช้ คงทำไม่ได้ ซึ่งถ้าจะให้มีการบังคับห้ามใช้ ทางกรมวิชาการเกษตรต้องเป็นผู้ออกประกาศเมื่อเห็นว่าสารเคมีใดหรือสารสังเคราะห์ใดส่งผลกระทบต่อคุณภาพยาง หรืออื่นๆ โดยออกประกาศเป็นสารต้องห้าม ไม่ให้นำมาใช้กับยางพารา" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

 

ด้าน นายธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า "เมื่อช่วงปีเศษที่ผ่านมา จ.อุดรธานี ได้รณรงค์ให้ชาวสวนยางเลิกใช้กรดซัลฟิวริก เพราะทำให้ยางมีกลิ่นเหม็น ถนนลื่น ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และโรงงานแก้กลิ่นเหม็นไม่ได้ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วมีข้อทักท้วงของผู้รับซื้อและมีข่าวว่าจะไม่รับซื้อยางอีสาน ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรม ท่านก่อนได้เดินทางมาดูข้อเท็จจริง และเห็นควรให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการมาแก้ไขโดยด่วน"

 

ทั้งนี้ ขณะที่กำลังรอการแก้ปัญหา ก็จะมีการส่งเสริมให้คู่ค้าหรือชาวสวนยางหันมาใช้กรดฟอร์มิคหรือกรดอินทรีย์อื่นแทน ด้วยการจัดหากรดให้ และแยกกลุ่มรับซื้อออกมาต่างหาก พร้อมทั้งแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่จำหน่ายกรดซัลฟิวริกให้ยุติการผลิตและจำหน่าย หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานผลิตกรดออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

จากการสำรวจตามร้านจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์การเกษตร ในเขตเทศบาล ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่า มีกรดซัลฟิวริก จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ในรูปแบบบรรจุขวดกว่า 5 ยี่ห้อ แต่ไม่ระบุว่าเป็นกรดซัลฟิวริก มีเพียงฉลากบอกสรรพคุณ มีทั้งน้ำที่เป็นสีขาวใส และน้ำสีเหลืองใส โดยขวดเล็กขายเป็นแพ็คๆ ละ 6 ขวดๆ ละ 70 บาท และขวดแก้วบรรจุลังแบบเข้มข้น ขณะที่กรดฟอร์มิคบรรจุในแกลลอนสีน้ำเงิน มีหลายยี่ห้อเช่นกัน ราคา 270 บาท ซึ่งผู้ค้าระบุว่ากรดซัลฟิวริกบรรจุขวดแบบแพ็คได้รับความนิยมมากกว่า เพราะราคาถูกและสะดวกในการใช้งาน

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics