HOT

อุตฯยันใช้เกณฑ์ 50 กม. พิจารณาย้ายโรงงานน้ำตาล KTIS
POSTED ON 19/08/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวในวันนี้ (19 ส.ค.2558) ว่า นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกมาเปิดเผยต่อกรณีที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งการโดยเร็ว เรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปจังหวัดสุโขทัยให้แก่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม ที่ไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปตั้งที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน เสนอให้ ครม.พิจารณา ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่นั้น ขณะนี้ทาง สอน.ได้รายงานเรื่องไปยัง "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม รับทราบแล้ว ในฐานะผู้ถูกฟ้องในตำแหน่ง ซึ่งมองว่าไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากศาลฯได้พิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการออกใบอนุญาตการย้ายโรงงานไปตั้งที่ใหม่โดยเร็วเท่านั้น

 

โดยระหว่างนี้ สอน.รอเพียงการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงนามแล้ว และคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ในเร็วๆ นี้

 

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "เมื่อหลักเกณฑ์การตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลมีผลใช้บังคับแล้ว ทาง สอน.ก็จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีการยื่นขอตั้งหรือขอย้ายโรงงานน้ำตาลว่าต้องยื่นเอกสารอะไรกลับมาให้ สอน.พิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติภายใน 45 วัน โดยจะใช้ระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร เป็นหลักสำคัญในการพิจารณา ซึ่งรวมถึงโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ที่จะย้ายมาด้วย โดยบริษัทฯดังกล่าวได้ยื่นขอย้ายโรงงานมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งอยู่ในลำดับต้นๆ ที่ สอน.จะพิจารณาก่อน แต่หากระยะห่างของโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์กับโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่แล้วต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ก็คงไม่สามารถอนุมัติการย้ายโรงงานน้ำตาลมาได้ เพราะไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด"

 

"ครม.ได้มีมติยกเลิกไปแล้ว และให้นำหลักเกณฑ์การตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลใหม่มาใช้ อีกทั้งการยื่นขอย้ายโรงงานน้ำตาลในสมัยนั้นก็มีการกำหนดการตั้งโรงงานจะต้องมีระยะห่างจากโรงงานเดิมไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ทางโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ก็ทราบอยู่แล้ว ถึงเสนอเรื่องการย้ายโรงงานให้ ครม.พิจารณา ดังนั้น เมื่อศาลสั่งมายังกระทรวงอุตสาหกรรมให้เร่งพิจารณาการอนุมัติย้ายโรงงานน้ำตาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ทาง สอน.ก็จะพิจารณาโดยเร็ว" นายพิชัย กล่าว

 

ด้าน นางดารัตน์ วิภาตะกลัส กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด กล่าวว่า หากทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้หลักเกณฑ์ระยะห่าง 50 กิโลเมตร มาพิจารณาการย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ขนาดกำลังผลิต 25,000 ตันต่อวัน  เท่ากับว่าไม่ได้ดูเจตนาของคำสั่งศาลที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม กรณีที่ รมว.อุตสาหกรรม สมัยนั้นไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เหมือนกับโรงงานน้ำตาล 11 โรง ที่ผ่านการอนุมัติ ทั้งๆ ที่เอกสารข้อมูลถูกต้องทุกอย่าง

 

"การฟ้องร้องกว่า 7 ปี ถือเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับบริษัทฯ ที่ดูเหมือนถูกกลั่นแกล้ง หากรัฐบาลชุดนี้ต้องการพิสูจน์การดำเนินงานที่สุจริต ก็ต้องพิจารณาจุดนี้เป็นสำคัญ เพราะหากนำหลักเกณฑ์ระยะห่างมาพิจารณา เท่ากับว่าการฟ้องร้องที่ผ่านมาและคำสั่งศาลที่ออกมา ถือเป็นความว่างเปล่าที่ไม่ได้ผลตอบรับอะไรเลย อีกทั้งการย้ายโรงงานมาตั้งใหม่ก็ไม่ได้เกิดผลเสียหายกับฝ่ายใด ในทางกลับกันเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3,700 ราย และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบรรทุกอ้อยและขนส่งอ้อยไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ คิดเป็นเงินปีละกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังทำให้ชาวไร่อ้อยปลอดภัยในการเดินทาง ถนนหนทางก็จะไม่ต้องชำรุดจากการขนส่งอ้อยอีกด้วย ซึ่งทางโรงงานฯก็ได้ไปลงทุนซื้อที่ดินและเตรียมการทุกอย่างเพื่อย้ายโรงงานตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เกิดการฟ้องร้องดังกล่าวขึ้นมา" นางดารัตน์ กล่าว

 

ด้าน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้ง หรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยได้มีการปรับเกณฑ์ระยะห่างการตั้งหรือขยายโรงงานใหม่ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการตั้งและขยายโรงงานน้ำตาลที่มีเอกชนมายื่นเรื่องไว้กว่า 50 คำขอ ที่ต้องค้างการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นเท่าที่ประเมินคาดว่าจะสามารถอนุมัติคำขอดังกล่าวได้ประมาณ 10 ราย

 

ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยังระบุด้วยว่า จากการลงพื้นที่อีสานก็พบว่ามีศักยภาพการปลูกอ้อยพอสมควร โดยยังมีพื้นที่เหลือและพบว่าโรงงานที่จะได้รับอนุมัติเพิ่มก็จะอยู่ในแถบพื้นที่อีสานเป็นส่วนใหญ่ โดยแต่เดิมนั้นภาคอีสานจะเน้นปลูกข้าวและมันสำปะหลัง แต่ขณะนี้เริ่มมีการปลูกอ้อยและยางพาราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอ้อยที่ใช้น้ำน้อย

 

สำหรับการตั้งโรงงานนั้นมีการประเมินในเบ้องต้นว่าต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ยประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อแห่ง หากมีการตั้งโรงงานใหม่ 10 แห่ง ตามที่ รมว.อุตสาหกรรม ระบุ จะมีเงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และรัฐกำหนดให้ต้องเกิดขึ้นภายใน 5 ปี

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing