HOT

เล็งถอน รง.4 โรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตแต่ไม่ดำเนินการ
POSTED ON 06/08/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวนวันนี้ (6 ส.ค.2558) ว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล โดยขณะนี้มีเอกชนมายื่นเรื่องขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ประมาณ 56 ราย และจะพิจารณาให้เหลือประมาณ 10 ราย ซึ่งหลายรายมีการยื่นพื้นที่มาซ้ำซ้อนกัน โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ได้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศเป็นกฎกระทรวง

 

สาระสำคัญของหลักเกณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ โรงงานน้ำตาล 11 แห่งที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2553-2554 แต่ยังไม่ก่อสร้าง จะมีกรอบการพิจารณาว่าหากโรงงานใดยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) มาแล้ว แสดงว่ามีความตั้งใจดำเนินการจริง ดังนั้น จะไม่นำเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงานมาร่วมการพิจารณา ซึ่ง ครม.เพิ่งมีมติว่าโรงงานที่จะขออนุญาตตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร จากโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน (เดิมกำหนดให้ต้องห่างจากโรงงานเดิม 80 กิโลเมตร) ส่วนผู้ประกอบการรายใดได้ใบอนุญาตไปแล้ว 3-4 ปี แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะยกเลิกใบอนุญาตฯดังกล่าว

 

ส่วนที่ 2 คือ กรณีเอกชนที่ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาใน 5 ข้อหลักๆ ได้แก่

 

1.รายใดยื่นขอใบอนุญาตมาก่อนได้รับการพิจารณาก่อน

 

2.สถานที่ตั้งโรงงาน ต้องมีเอกสารสิทธิของที่ดินชัดเจน

 

3.โรงงานแห่งใหม่ต้องมีระยะห่างจากโรงงานที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน 50 กิโลเมตร

 

4. ต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ โดยกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ

 

5.การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลด้านกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อได้ EIA แล้วจึงมายื่นขอ รง.4 ได้ ทั้งนี้ หลังจากได้รับใบอนุญาตให้ก่อตั้งโรงงานใหม่แล้ว จะต้องดำเนินการก่อสร้างภายใน 5 ปี หากไม่ดำเนินการจะถูกริบใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการรายต่อไปที่เคยมายื่นเรื่องไว้ได้รับการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่อไป

 

นางอรรชกา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า "สำหรับเอกชนที่ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลมาประมาณ 56 ราย พบว่า เกือบ 50 รายเสนอพื้นที่ตั้งโรงงานทับซ้อนกัน ซึ่งในความจริงแล้วรัศมี 50 กิโลเมตรนั้น โรงงานเดิมกับโรงงานใหม่ต้องอยู่ห่างกันแบ่งครึ่งคือโรงละ 25 กิโลเมตร เมื่อตีวงรัศมี 25 กิโลเมตรแล้วพื้นที่ดังกล่าวจะอยู่ที่ 1.2 ล้านไร่ โดยโรงงานที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมที่ปริมาณ 20,000 ตันอ้อย/วัน จะต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยในวงรัศมี 25 กิโลเมตร ใช้พื้นที่อยู่ที่ 2.4 แสนไร่ หรือคิดเป็น 20% ของ 1.2 ล้านไร่"

 

"ทางกระทรวงอุตสาหกรรมต้องกำหนดเพื่อไม่ให้แน่นจนเกินไป ซึ่งการทำเช่นนี้เผื่อไว้สำหรับพื้นที่ป่า ภูเขา บ้าน และถนนด้วย ถ้าผลิตน้ำตาลหีบ 120 วัน/ปี ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณนี้เพียงพอ จึงยังไม่แย่งกัน เราห่วงการขอตั้งโรงงานมากว่าจะแย่งอ้อยกัน ส่วนการกำหนดระยะห่างที่สมควรส่งเสริมปลูกอ้อย 50% ของกำลังการผลิต เพื่อมั่นใจว่าต้องมีชาวไร่อ้อยเป็นของตนเอง ต้องมีหลักฐาน มีชาวไร่ มีพื้นที่ว่าทำได้จริง ซึ่งต่อไปขั้นตอนการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไม่ต้องเข้า ครม. แล้ว แต่ให้เป็นอำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรมที่สามารถอนุมัติได้ หากใครผ่านตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดยื่นก็ได้เลย ไม่ต้องไปจ่ายใต้โต๊ะใคร" นางอรรชกา กล่าว

 

สำหรับโรงงานน้ำตาล 11 แห่ง ที่ผ่านมติ ครม.แล้ว ได้แก่

 

1.บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 2.บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี 3.บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ 4.บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 5.บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี 6.บริษัท น้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ 7.บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด อ.เทิง จ.เชียงราย (หรือ อ.จุน จ.พะเยา) 8.บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร 9.บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 10.บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว 11.บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ

 

ซึ่งปัจจุบันมี บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด จ.ชัยภูมิ ที่ก่อสร้างโรงงานเสร็จแล้ว และ บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด จ.ลพบุรี ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน

 

อ้างอิง : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438761265