HOT

ไทยไม่เพิ่มโควตาเหล็กนำเข้าตามคำขอญี่ปุ่น หวั่นมีการกักตุนเหล็ก
POSTED ON 15/07/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ได้เปิดเผยภายหลังจากที่ นายอะกิระ มูราโคชิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เข้าพบ ว่า ขณะนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์กำลังตรวจสอบยอดโควตาเหล็กที่นำเข้าจากญี่ปุ่นว่าแต่ละปีว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากที่ผ่านมาการให้โควตาแต่ละปีมีปริมาณมากเกินกว่าการนำเข้าจริง และญี่ปุ่นไม่เคยใช้โควตาเต็ม ดังนั้น หากเพิ่มโควตาให้จะใช้ไม่เต็ม และหวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาการกักตุนเหล็กได้ อีกทั้งฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้ทบทวนโควตาปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือนต่อครั้ง จากเดิมที่กำหนดไว้ปีละ 1 ครั้ง

 

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารนำเข้าสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้า ที่มีโควตาตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ได้กำหนดปริมาณโควตานำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศญี่ปุ่นในปี 2558 เหลือเพียง 530,000 ตัน จากที่เคยนำเข้า ปี 2557 ปริมาณ 1.22 ล้านตัน หรือเท่ากับลดลง 60% เพราะคาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์จะต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเดินหน้าล็อบบี้อย่างหนักเพื่อเพิ่มปริมาณโควตาเหล็ก

 

ด้าน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เข้ามาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอเพิ่มโควตาการนำเข้าเหล็กชนิดพิเศษในอัตราภาษี 0% เพื่อนำมาผลิตรถยนต์เพิ่ม จากปัจจุบันไทยให้โควตา 1.2 ล้านตันต่อปี ส่วนปี 2558 คาดว่าจะได้รับโควตาประมาณ 2 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ของไทยปี 2558 จะเพิ่มไปถึง 2.5 ล้านคัน หรือสูงกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดการผลิต 2.1 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 25% จึงจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กเพิ่ม แต่ทาง สศอ.ขอให้เจโทรประสานกับรัฐบาลญี่ปุ่นทบทวนการให้ความช่วยเหลือด้านการอบรมตามกรอบเจเทปาควบคู่ไปกับการขยายโควตาเหล็ก

 

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการนำเข้าสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครั้งล่าสุด ว่า ที่ประชุมฯยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการขยายโควตาการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่น เพียงแต่มอบให้แต่ละหน่วยงานไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำมาสรุปเรื่องการขยายโควตาในการประชุมครั้งต่อไป

 

สำหรับกรณีที่มีการอนุมัติให้เหล็กที่ผลิตจากเตาไฟฟ้าแบบอินดักชั่นได้รับมาตรฐาน มอก. นั้น ในการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมี นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมการที่เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตเตาอินดักชั่นแล้ว โดยลงมติผ่านความเห็นชอบให้เหล็กที่ผลิตด้วยเตาไฟฟ้าแบบอินดักชั่นได้รับมาตรฐาน มอก.เทียบเท่าเตาอิเล็กทริกอาร์ก หลังจากที่มีการพิจารณาเรื่องนี้กันมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน โดยต่อไปการให้มาตรการ มอก.ในการผลิตเหล็ก ไม่ต้องดูกระบวนการผลิต แต่ให้ลูกค้าตัดสินใจดูคุณภาพที่ปลายทาง อิงมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาและยุโรป

 

ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำจดหมายถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีการทบทวนมติดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าไม่ควรประกาศให้การผลิตเหล็กเส้นจากเตาเหนี่ยวนำอินดักชั่นมีมาตรฐานเทียบเท่าการผลิตจากเตาอิเล็กทริกอาร์ก

 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุม กมอ.ครั้งล่าสุดได้มีการพิจารณาปัญหาเรื่องเหล็ก และมีมติออกมาเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

 

1. ให้มีการแยกร่างแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมายเลข มอก.20-2543 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กเส้นกลม และ มอก.24-2548 เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย เพื่อป้องกันเหล็กจีนไม่ได้คุณภาพออกจากเรื่องมาตรฐานการผลิตเหล็กจากเตาอินดักชั่น เนื่องจากได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ภายในเดือน ส.ค.2558 นี้

 

2. ให้ทบทวนมติ กมอ.เรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น ที่เดิมมีมติให้ได้ มอก.แล้ว โดยให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปสู่คณะกรรมการวิชาการคณะที่ 9 (กว.9) มาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งมี รศ.เอนก ศิริพานิชกร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะ กว.9 ยืนยันมาตลอดว่า เหล็กที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น จำเป็นต้องดูเรื่องกระบวนการผลิต จะดูแต่คุณภาพปลายทางคงไม่ได้