HOT

โตโยต้า-อีซูซุ หั่นยอดขายปีนี้ลง หลังอุตฯยานยนต์ในประเทศยังหนึบ
POSTED ON 03/07/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่มีรายงานยอดการจำหน่ายรถยนต์ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.2558 ที่ลดลงนั้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว มีวันหยุดหลายวัน อีกทั้งทางโตโยต้าเองก็มีการปรับโฉมรถกระบะใหม่ ทำให้การตัดสินใจซื้อรถยนต์ของประชาชนอาจชะลอลงไปบ้าง

 

"ส่วนยอดผลิตรถยนต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มียอดผลิตรวม 1.9 ล้านคัน ส่งออก 1.1 ล้านคัน ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านคัน แบ่งเป็น ส่งออก 1.2 ล้านคัน และขายในประเทศ 8 แสนคัน จากปีที่ผ่านมาขายในประเทศ 8.8 แสนคัน อยู่ในระดับที่รับได้ เพราะการส่งออกที่ยังสามารถเติบโตช่วยทำให้การผลิตรถยนต์มากขึ้น" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

 

ด้าน นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ซึ่งเป็นรถกระบะในโครงการ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle) ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก และมียอดส่งออกสะสมตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2547 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 2.4 ล้านคัน ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.258 ล้านล้านบาท และเมื่อรวมกับการส่งออกชิ้นส่วนฯ โตโยต้าสามารถนำรายได้สู่ประเทศไทยทั้งสิ้นกว่า 1.854 ล้านล้านบาท

 

ต่อเนื่องมาถึงรถกระบะในโครงการ IMV 2 โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งรถกระบะรุ่นใหม่นี้มีการใช้ชิ้นส่วนฯที่ผลิตในประเทศถึง 97% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100% ในอนาคต โดยในล็อตแรกมีการส่งออกทั้งสิ้น 2,700 คัน ไปยังประเทศในแถบอเมริกาใต้ และจะทยอยส่งออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 130 กว่าประเทศ โดยคาดว่าทั้งปีจะสามารถส่งออกโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ได้กว่า 1.86 แสนคัน

 

สำหรับแผนการผลิตรถยนต์โตโยต้าในปีนี้ยังคงที่จะรักษากำลังการผลิตที่กว่า 730,000 คันต่อปีไว้เช่นเดิม ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 800,000 คัน ซึ่งลดลงจากปี 2557 ที่มียอดขาย 880,000 คัน เนื่องจากตลาดในประเทศหดตัว ดังนั้น ค่ายรถยนต์ต่างปรับสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการขายในประเทศที่ลดลง อีกทั้งยังช่วยรักษายอดการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย ไม่เช่นนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ รวมไปถึงการจ้างงาน

 

"ตอนนี้มุ่งเน้นไปที่การส่งออกที่ยังคงมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายในปีนี้คาดว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นตลาดในประเทศ 40% และส่งออก 60% จากเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 50% เท่าๆ กัน" นายทานาดะ กล่าว

 

ด้าน นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ตลาดในประเทศจะชะลอตัวค่อนข้างมาก แต่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเป้าหมายการส่งออกจากไทยปีนี้ไว้ที่ 1.2 ล้านคัน รวมการส่งออกชิ้นส่วนฯ คิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 8 แสนล้านบาท โดยโตโยต้ามีสัดส่วนการส่งออกกว่า 40%

 

ทั้งนี้ ทุกค่ายรถจากการพูดคุยกันในสมาชิกต่างเห็นในทิศทางเดียวกัน คือจะพยายามหันมาเน้นส่งออกมากขึ้น ทดแทนตลาดในประเทศที่กำลังแย่ เพื่อรักษากำลังการผลิต ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และจำนวนแรงงานไว้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวม

 

ส่วนทางด้าน บริษัท ตรีเพชรอีซูซุ จำกัด ได้มีการปรับลดประมาณการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศลง จากต้นปีอยู่ที่ 900,000 คัน เหลือเพียง 800,000 คัน โดย 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดขายอยู่ที่ 308,000 คันเท่านั้น ซึ่งอีซูซุจะพิจารณาทบทวนเป้าหมายยอดขายอีกครั้ง แต่ยังคงส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 18% ของยอดขายรวม

 

ขณะที่ทางด้านจีเอ็ม หรือ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้เริ่มเปิดสายการผลิตเครื่องยนต์ดูราแมกซ์ 4 สูบ ดีเซลเทอร์โบ 2.8 ลิตร เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดาสำหรับติดตั้งในรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโด และ จีเอ็มซี แคนยอน โดยเป็นเครื่องยนต์ที่ผลิตจากโรงงานจีเอ็ม พาวเวอร์เทรน ประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้