HOT

เร่งแก้ปัญหาเหล็กนำเข้า พร้อมหารือจีนยกเลิกอุดหนุนราคา
POSTED ON 07/07/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืนว่า ที่ประชุมฯได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ทำให้เกิดความต่างด้านราคาจนส่งกระทบต่อราคาเหล็กที่ผลิตในประเทศ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  

 

โดยในการหารือกับทางการจีนนั้นได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นตัวแทนในการเจรจาและหารือกับรัฐบาลจีน เพื่อผลักดันให้จีนยกเลิกการอุดหนุนการผลิต การส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมมายังประเทศไทย ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนอ (ACFTA) ผ่านเวที ACFTA- JC ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับจีนไปแล้ว และจะมีการหารืออีกครั้งในการประชุมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ที่ประเทศจีน

 

ที่ผ่านมา จีนได้ยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าเหล็กเจือโบรอนบางรายการแล้ว คิดเป็น 50% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่จีนส่งออกมายังตลาดอาเซียน แต่ไทยต้องการให้มีการยกเลิกการอุดหนุนทั้งหมด เพราะการที่จีนส่งสินค้าเหล็กที่ผลิตเกินความต้องการใช้ไปยังตลาดต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไทย ซึ่งพบว่าในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าเหล็กปริมาณเพียง 7 ล้านตัน แต่ปีที่แล้วมีการนำเข้ามากถึง 12 ล้านตัน และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีการนำเข้ามาแล้ว 5 ล้านตัน

 

ขณะที่กรมการค้าภายในก็ได้ติดตามราคาและสถานการณ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด โดยกำหนดให้ผู้ค้าเหล็กรายงานราคาจำหน่ายเป็นประจำทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมามาแล้ว ทั้งเหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กกล้าแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น

 

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเหล็กขณะนำเข้า ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ อีกทั้งยังให้เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดฐานหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า และสั่งให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทบทวนมาตรฐานของสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน

 

ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งศึกษาและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ (โรงงานถลุงเหล็ก) ในไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ของไทย และให้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งเร่งสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของเหล็กไทย โดยผลักดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ตั้งฐานการผลิตในไทยยินยอมให้ความร่วมมือทดสอบคุณภาพสินค้าเหล็กของไทย

 

ด้าน นายทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าผู้ประกอบการเหล็กยินดีทำตามมาตรการในการดูแลสินค้าเหล็กของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำหนดให้เหล็กเป็นสินค้าอ่อนไหว มีการติดตามราคาทุกวัน ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ได้มีการรายงานสถานการณ์ให้ทราบทุกวันอยู่แล้ว และเห็นว่าการที่ไทยมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการดูแลสินค้าเหล็กนำเข้าจากจีน ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะหลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็มีมาตรการออกมาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งทาง สมอ.และ ส.อ.ท. ก็มีการติดตามดูแลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความต้องการใช้เหล็กของไทยในปีก่อนมี 18 ล้านตันต่อปี ซึ่งไทยผลิตเหล็กได้เอง 8 ล้านตัน ต่อปี และนำเข้าจากจีน 12 ล้านตันต่อปี ส่วนที่เหลือก็มีการส่งออก